xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ล้มเหลว ไม่สามารถชักจูงผู้นำกัมพูชาให้สามัคคีอาเซียนต่อต้านจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ สัมผัสมือกับนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา  ในการพบปะหารือกันที่กรุงพนมเปญวันนี้ (26 ม.ค.) </i>
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ พบหารือกับเหล่าผู้นำกัมพูชาที่กรุงพนมเปญในวันนี้ (26 ม.ค.) แต่ประสบความล้มเหลวโดยไม่สามารถทำให้พวกเขาแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นในการคัดค้านจีนที่เดินหน้าอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนพิพาทในทะเลจีนใต้

เคร์รีเดินทางมาเยือนกัมพูชาเป็นเวลาครึ่งวัน หลังจากแวะที่ลาวมาแล้วครึ่งวัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะรบเร้าให้บรรดาผู้นำ 10 ชาติสมาคมอาเซียนแสดงความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในการต่อต้านการรุกคืบอย่างแข็งกร้าวของจีน ทั้งนี้ ก่อนที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา จะประชุมซัมมิตกับผู้นำเหล่านี้ในเดือนหน้า ณ รีสอร์ตซันนีแลนด์ส, มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

ในกรุงพนมเปญ เคร์รีได้พบปะกับทั้ง ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งมายาวนานที่สุดของเอเชีย และรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮอร์ นัมฮอง โดยที่เคร์รีกล่าวบรรยายว่า เป็นการพบปะหารือที่ “ตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์”

ขณะที่ ฮอร์ นัมฮอง แถลงว่า จุดยืนของกัมพูชาในเรื่องทะเลจีนใต้ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยที่กัมพูชาเชื่อว่าแต่ละประเทศควรแก้ไขข้อพิพาทที่มีอยู่ในระหว่างพวกเขากันเอง ไม่นำเอาอาเซียนเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันด้วย

ท่าทีเช่นนี้สอดคล้องตรงกันกับจุดยืนของจีนที่บอกว่า สมาคมอาเซียนไม่ได้เป็นฝ่ายหนึ่งในกรณีพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ดังนั้นปัญหาเหล่านี้จึงควรที่จะแก้ไขในแบบทวิภาคี นั่นคือระหว่างชาติที่พิพาทช่วงชิงกัน

“เราต้องการให้มีการเปิดการเจรจากันขึ้นมาในอนาคตในระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งได้อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้” ฮอร์ นัมฮอง กล่าวสำทับ

จีนนั้นประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่แทบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ และทำให้เกิดเป็นการพิพาทช่วงชิงกับบรูไน, มาเลเซีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ ตลอดจนไต้หวัน

เมื่อวันจันทร์ (25) ภายหลังที่หารือที่กรุงเวียงจันทน์กับเหล่าผู้นำของลาว ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานของสมาคมอาเซียนในปี 2016 เคร์รีออกมาแถลงข่าวอ้างว่า นายกรัฐมนตรี ทองสิง ทำมะวง บอกเขาว่า ลาวต้องการที่จะเห็นอาเซียนที่สามัคคีกัน ต้องการให้มีการเคารพสิทธิทางทะเล หลีกเลี่ยงการสั่งสมกำลังทหารในทะเลจีนใต้

ขณะที่ไม่มีรายงานข่าวว่าทางผู้นำลาวเองแสดงความคิดเห็นอย่างไรภายหลังการพบปะหารือ

เมื่อตอนที่กัมพูชาเป็นประธานของอาเซียนในปี 2012 ได้ถูกกล่าวหาจากหลายชาติสมาชิก รวมทั้งจากสหรัฐฯ และยุโรปว่า พยายามขัดขวางไม่ให้สมาคมอาเซียนมีฉันทามติในการคัดค้านการรุกคืบอย่างแข็งกร้าวของจีนในทะเลจีนใต้
<i>จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ (ซ้าย) เข้าพบหารือรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮอร์ นัมฮอง ของกัมพูชา ณ กระทรวงการต่างประเทศในกรุงพนมเปญ วันนี้ (26 ม.ค.) </i>
ฮอร์ นัมฮอง กล่าวยืนกรานจุดยืนเดิมอีกในวันนี้ (26) โดยบอกว่า “กัมพูชาไม่ใช่ศาล จะได้สามารถพิพากษาว่าเกาะแห่งนี้เป็นของประเทศนี้หรือของประเทศนั้น”

ทางด้านเคร์รีไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องทะเลจีนใต้ ในคำแถลงที่ออกมาภายหลังการหารือกับฝ่ายกัมพูชา แต่พยายามกล่าวเน้นว่า สหรัฐฯ กับอาเซียนเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กัน “และกัมพูชาก็มีบทบาทในการให้คำจำกัดความอย่างสมบูรณ์แก่ความเป็นหุ้นส่วนดังกล่าว”

ที่กรุงปักกิ่งวันนี้ (26) เช่นกัน เมื่อโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน หวา ชุนอิง ได้รับคำถามจากผู้สื่อข่าว เกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสหรัฐฯ ผู้หนึ่งออกมาเรียกร้องให้อาเซียนสามัคคีกันในการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิทางทะเล เธอก็ตอบว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ได้เป็นตัวแทนของอาเซียน

“ดิฉันหวังว่าสหรัฐฯ จะสามารถแสดงบทบาทอันสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่ใช่คอยหว่านโปรยความไม่ลงรอยกัน” โฆษกหญิงผู้นี้บอกกับผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวตามวาระปกติ

เคร์รีมีกำหนดเดินทางจากกัมพูชาในวันนี้ (26) เพื่อไปเยือนจีนเป็นชาติต่อไป โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บอกว่าเขาจะกดดันให้ปักกิ่งเพิ่มการบีบคั้นเกาหลีเหนือ ภายหลังโสมแดงท้าทายนานาชาติด้วยการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งเมื่อต้นเดือนนี้ รวมทั้งเขาจะย้ำถึงความกังวลของสหรัฐฯ เกี่ยวกับพฤติการณ์ของจีนในทะเลจีนใต้
<i>รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ ชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของกัมพูชาวันนี้ (26 ม.ค.) โดยมีเจ้าหน้าที่กัมพูชาคอยต้อนรับ </i>

กำลังโหลดความคิดเห็น