xs
xsm
sm
md
lg

สจล.จับมือ “ทีมกรุ๊ป” ยกระดับนักศึกษาป้อนระบบคมนาคมขนส่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สจล.จับมือทีมกรุ๊ปลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมพัฒนาคน พัฒนางานวิจัย รองรับการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งระบบราง, ทรัพยากรน้ำ และสถาปัตยกรรมและการพัฒนาเมือง ยกระดับสถาบันศึกษาที่ดีที่สุด 1 ใน 10 ของอาเซียนในปี 63 ภายใต้แนวคิด “เจ้าแห่งนวัตกรรม”

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2559 ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ลงนามร่วมกับ นางเลิศลักษณา ยอดอาวุธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารงานพัฒนาธุรกิจบริษัท ทีม กรุ๊ป ออฟ คัมปานีส์ จำกัด ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ

โดยศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ กล่าวว่า เจตนารมณ์ในความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาศักยภาพนักศึกษา เสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ เพื่อให้นักศึกษาออกไปทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างมีคุณภาพ รวมถึงการพัฒนาด้านการวิจัยและผลิตผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างประโยชน์แก่ประเทศ จึงถือเป็นการยกระดับสถาบันสู่การเป็นสถาบันการศึกษาอันดับหนึ่งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีจุดเด่นในด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ภายใต้แนวคิด “เจ้าแห่งนวัตกรรม : The Master of Innovation” และก้าวสู่การเป็นสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดีที่สุด 1 ใน 10 ของอาเซียน ในปี 2563

นอกจากนั้น สจล.ยังจัดการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานอยู่เสมอ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาในการร่วมงานกับองค์กรต่างๆ ในระดับนานาชาติ เช่น สนับสนุนให้นักศึกษามีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ โดย สจล.ได้จัดให้มีศูนย์ทรัพยากรทางภาษา เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพทางด้านภาษา จัดให้มีการเรียนและการทดสอบมาตรฐานทางด้านภาษากับองค์กรด้านภาษาชั้นนำ รวมทั้งมีวิทยาลัยนานาชาติที่พร้อมเปิดรับนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีในสาขาวิชา Software Engineering และปริญญาโทในสาขาวิชา Automotive Engineering, Computing in Engineering System และ Logistics and Supply Chain

และหลักสูตรอินเตอร์ล่าสุดที่พร้อมเปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนระดับปริญญาตรี ในปีการศึกษา 2559 คือหลักสูตร Computer Innovation Engineering Program (วิศวกรรมนวัตกรรมคอมพิวเตอร์) คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยได้ร่วมกับคณาจารย์จาก Carnegie Mellon University : CMU สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความยอดเยี่ยมทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ 1 ใน 5 ของโลก เป็นหลักสูตรที่สนับสนุนวิชาชีพที่รองรับวิถีชีวิตและเศรษฐกิจดิจิตอล ผสมผสานรากฐานของวิชาการ พร้อมเพิ่มเติมประสบการณ์และการเรียนรู้ ตลอดหลักสูตรนักศึกษาจะมีการทำโครงงานและการปฏิบัติจริง สนับสนุนนักศึกษาฝึกงานทั้งในและต่างประเทศ กำหนดรับนักศึกษาปีการศึกษาละ 50 คน

พร้อมทั้งสนับสนุนให้อาจารย์ และนักวิจัยทุกท่านได้มีผลงานวิจัยและภาระงานที่จะสามารถพัฒนาในด้านต่างๆ ของสถาบันให้ดียิ่งขึ้น

นางเลิศลักษณากล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะสร้างมิติใหม่ในแวดวงวิชาการ รองรับความท้าทายหรือเมกะเทรนด์ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ เช่น การร่วมกันด้านวิชาการในการบริหารจัดการน้ำสู้ภัยแล้ง การสร้างบุคลากรรองรับการพัฒนาระบบราง รวมทั้งงานวิชาการด้านอื่นๆ ที่จะสนับสนุนโครงการพัฒนาระดับชาติให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

โดยกิจกรรมแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านบุคลากร โดยการรับนักศึกษา สจล.เข้าฝึกงานโครงการสหกิจศึกษากับทีมกรุ๊ป เพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษาด้วยการเรียนรู้ภาคปฏิบัติกับโครงการจริง โดยระยะแรกจะมุ่งเน้นด้านการคมนาคมขนส่ง, ทรัพยากรน้ำ และสถาปัตยกรรมและการพัฒนาเมือง โดยมีโครงการระดับชาติที่เป็นคลังความรู้ ทั้ง ด้านการคมนาคมขนส่งและระบบราง เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง, โครงการ Monorail สายสีชมพู

โดยได้เริ่มมีความร่วมมือทางวิชาการด้านระบบราง โดยทีมกรุ๊ปได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายให้นักศึกษา สจล.ด้านระบบอาณัติสัญญาณ และระบบไฟฟ้าแล้ว ด้านทรัพยากรน้ำ เช่น โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สปป.ลาว, โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เซเปียนเซน้ำน้อย สปป.ลาว, โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำเงี้ยบ 1 สปป.ลาว ด้านสถาปัตยกรรมและการพัฒนาเมือง เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ

2. งานวิจัยและพัฒนา โดยร่วมกันวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และสามารถนำมาใช้ในการทำงานจริงได้ ทั้งทางด้านการคมนาคมขนส่งรวมไปถึงวิศวกรรมระบบราง, ทรัพยากรน้ำ, สถาปัตยกรรม, วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม, งานระบบและงานไฟฟ้า และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาหลักสูตรร่วมกันเพื่อผลิตนักศึกษาที่ตรงความต้องการของตลาดอาเซียน เช่น หลักสูตรสำหรับการเตรียมตัวเป็นวิศวกรที่ปรึกษา เป็นต้น

3. การผนึกกำลังกันด้านวิชาการ ทั้งด้านงานวิจัยและด้านบุคลากร ในการปฏิบัติงานในประเทศกลุ่มอาเซียน เพื่อร่วมกันสร้าง “ทีมไทยแลนด์” ที่มีความพร้อมในการแข่งขันในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะใน CLMV และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในภูมิภาคนี้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น