“พาณิชย์” เปิดเวทีจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจยางพาราและผลิตภัณฑ์ ผู้ซื้อ ผู้นำเข้ากว่า 147 รายจาก 28 ประเทศเข้าร่วมงาน คาดเกิดยอดซื้อขายไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท เผยจะช่วยยกระดับราคายางพาราในประเทศและแก้ปัญหาสต๊อกล้นลงได้
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเจรจาการค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา ว่า กระทรวงฯ ได้เปิดเวทีจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้นำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราจากต่างประเทศกับผู้ประกอบการไทย เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการค้า และแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยได้รับความสนใจจากผู้ซื้อ ผู้นำเข้า กว่า 147 ราย จาก 28 ประทศทั่วโลก ทั้งอาเซียน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ รัสเซีย แอฟริกาใต้ ซาอุดีอาระเบีย และตุรกี และมีผู้ประกอบการไทยมาร่วมงานประมาณ 109 ราย
ทั้งนี้ สินค้ายางพาราที่ผู้นำเข้าสนใจ ได้แก่ ยางล้อ ยางตัน หมอนและที่นอนยาง ยางธรรมชาติ ถุงมือยาง และไม้ยาง โดยคาดว่าจะเกิดมูลค่าการซื้อขายกว่า 10,000 ล้านบาท และจะมีการเจรจาซื้อขายอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้ประเมินว่าจะช่วยผลักดันการส่งออกยางในปีนี้ให้ขยายตัวได้เท่าไร แต่เชื่อว่าจากการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยยกระดับราคายางพาราในประเทศให้สูงขึ้น และส่งผลให้ปริมาณยางพาราที่ล้นตลาดลดลงได้
สำหรับการผลักดันการส่งออก กระทรวงฯ ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย นำคณะไปเจรจาซื้อขายกับหลายประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้ไปเจรจากับรัสเซียและเบลารุส ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะรัสเซียสนใจสินค้ายางพาราจากไทย ทั้งไม้ยาง ผลิตภัณฑ์ยาง มากกว่า 80,000 ตัน และยังมีบริษัทของรัสเซียที่สนใจลงทุนในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในประเทศไทย และยังมีอีกหลายประเทศสนใจลงทุนเพิ่มเติมด้วย ขณะเดียวกันอินเดียได้สนใจซื้อไม้ยางจากไทย มูลค่ากว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐด้วย
นอกจากนี้ ยังได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการซื้อผลิตภัณฑ์ยางรวม 110,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,850 ล้านบาท ระหว่างผู้จำหน่ายไทย คือ บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด กับผู้นําเข้าจีน 3 ราย ได้แก่ 1. Qingdao Runlian Co.,ltd. ยางแท่ง STR20 จํานวน 50,000 ตัน 2. Shanghai Han Qing Import & Export Co., ltd. ยางแท่ง STR20 จํานวน 30,000 ตัน และ 3. Shanghai Ting Qing Industry Co., Ltd ยางแผ่นรมควันจํานวน 30,000 ตัน
สำหรับผู้นำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ยางรายใหญ่จากต่างประเทศที่ตอบรับเข้าร่วมกิจกรรม เช่น บริษัท เซี่ยงไฮ้ฮานคิง และบริษัท คิงเดา ถานเยว่ อินเตอร์เนชั่นแนล เทรด จากจีน บริษัท ยูนิโกลฟส์ จากอังกฤษ บริษัท เจเอสซี เบลชีน่า จากเบลารุส บริษัท ไกพงรับเบอร์ จากเวียดนาม เป็นต้น
ส่วนผู้ประกอบการไทยรายสำคัญที่เข้าร่วมงาน เช่น บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ปลูกยางพาราได้เข้าร่วมกิจกรรม เช่น สหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด ชุมนุมสหกรณ์อุตสาหกรรมยางพาราภาคใต้ จำกัด โรงอัดก้อนยางสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด โรงอัดก้อนยางสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านทรายแก้ว จำกัด โรงอัดก้อนยางสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านคลองโตนพัฒนา จำกัด เป็นต้น