xs
xsm
sm
md
lg

ประเดิมได้แย่! ส่งออก ม.ค.ทรุดหนัก ติดลบ 8.91% ต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ส่งออก ม.ค. 59 ประเดิมเดือนแรกปีนี้ ติดลบ 8.91% ต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี ทำได้มูลค่า 15,711 ล้านเหรียญสหรัฐ เหตุเศรษฐกิจโลก คู่ค้าชะลอตัว น้ำมันยังดิ่งต่อเนื่อง “สุวิทย์” ยันไม่เลวร้าย เหตุเป็นไปตามแนวโน้มโลก เตรียมปรับยุทธศาสตร์ใหม่ หันมุ่งส่งออกบริการ ดันคนไทยไปลงทุนนอกเพื่อสร้างรายได้

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ม.ค. 2559 การส่งออกมีมูลค่า 15,711.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.91% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2558 ถือเป็นมูลค่าและอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 4 ปี 2 เดือน นับจากเดือนพ.ย. 2554 ที่มีมูลค่า 15,415.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.59% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 15,473.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.37% โดยดุลการค้าเกินดุล 237.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่ลดลง เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญยังชะลอตัว โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกเติบโต 3.4% ลดจากเดิม 3.6% รวมถึงราคาน้ำมันที่ลดลงมาก และยังไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทอ่อนค่าน้อยกว่าคู่ค้าและคู่แข่ง เช่น เงินยูโร ที่อ่อนค่าถึง 12% เยนญี่ปุ่น อ่อนค่า 3% ริงกิตมาเลเซียอ่อนค่า 16.4% ส่งผลให้สินค้าไทยเสียเปรียบการแข่งขันด้านราคา แต่ยังดีที่ส่วนแบ่งตลาดของไทยในแทบทุกตลาดเพิ่มขึ้น

สำหรับการส่งออกเดือน ม.ค. 2559 ที่ลดลง เป็นการลดลงในทุกหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร ลดลง 4.1% ตามราคาสินค้าเกษตรโลกที่ยังชะลอตัว โดยยางพาราลดลงมากถึง 25.7% ทูน่ากระป๋อง ลด 15.1% กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ลด 19.2% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 19.6% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ลด 2.3% ยกเว้นข้าว และน้ำตาลทราย ที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 30.0% และ 25.8% ตามลำดับ

ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 8.5% ตามภาวะเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเดือน ม.ค. 2559 ราคาน้ำมันดิบลดลงต่ำสุดในรอบ 11 ปีมาอยู่ที่ 27.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลงมาก เช่น ที่น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ที่มีสัดส่วนถึง 9.1% ของมูลค่าส่งออกในภาพรวม ลดลงถึง 25.2% ทองคำ ลดลง 51.2% เครื่องใช้ไฟฟ้า ลดลง 9.7% จากการย้ายฐานการผลิตโทรทัศน์ไปเวียดนาม เช่น ซัมซุง เป็นต้น

ส่วนมูลค่าการนำเข้าในเดือน ม.ค. 2559 ที่ลดลง 12.37% เป็นการลดลงในทุกหมวดสินค้า โดยเชื้อเพลิง ลดลง 40.68% วัตถุดิบ กึ่งสำเร็จรูป ลดลง 15.27% อุปโภคบริโภค ลดลง 4.61% ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลง 1.47% ยกเว้นทุน เพิ่มขึ้น 0.93% และอาวุธยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้น 131.90%

ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญ ลดลงในทุกตลาด โดยตลาดหลัก ลดลง 7.1% จากการลดลงของญี่ปุ่น 10.1% สหรัฐฯ 8.5% สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) 2.4%, ตลาดศักยภาพสูง ลด 9.4% จากการลดลงของอาเซียนเดิม (5 ประเทศ) 15.1% จีน 6.1% อินเดีย 5.6% เกาหลีใต้ 9.2% ยกเว้น CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) เพิ่ม 1.2% ตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 6.5% จากการลดลงของตะวันออกกลาง 12.1% แอฟริกา 10.2% รัสเซียและซีไอเอส ลด 30.5% และตลาดอื่นๆ ลด 39.2%

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค. 2559 ที่ลดลงมาก ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เป็นเพียงแค่เดือนแรกของปีนี้ และไม่ใช่ไทยลดลงประเทศเดียว ประเทศอื่นๆ ก็ลดลงทั้งโลก เป็นแนวโน้มเดียวกัน จะมองแค่ตัวเลขเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะหากมองในภาพรวมของการเติบโตด้านการส่งออก ไทยยังเป็นอับดับ 4 ของโลก รองจากฮ่องกง จีน และเม็กซิโก ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของไทยในประเทศต่างๆ ไม่ได้ลดลง แสดงว่าไทยไม่ได้แย่

อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปไทยจะต้องปรับยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการลงทุนใหม่ โดยการส่งออกสินค้ายังคงต้องผลักดันให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อไป แต่จะต้องเพิ่มการส่งออกภาคบริการให้เพิ่มขึ้นด้วย เพราะทุกวันนี้ รูปแบบการค้าโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก หันมาให้ความสำคัญกับการส่งออกบริการมากขึ้น ส่วนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศก็ต้องทำต่อ และที่สำคัญจะต้องผลักดันให้คนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศให้ได้เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศจากหลายๆ ทาง ซึ่งต่อไปจะมีการเก็บสถิติทั้งจากการส่งออกสินค้า สินค้าบริการ และการออกไปลงทุนด้วย

ส่วนเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ตั้งไว้ 5% จะต้องพยายามผลักดันให้ได้ตามเป้า โดยมีแผนเร่งรัดการส่งออกเชิงรุก ที่เน้นตลาด CLMV และตลาดใหม่ๆ ที่จะเจาะเป็นรายเมืองเพิ่มขึ้น เช่น มัณฑะเลย์ เมียวดี มะริด ทวาย ไฮฟอง ฮานอย เสียมราฐ พระสีหนุ เกาะกง หลวงพระบาง สะหวันนะเขต เป็นต้น รวมถึงจะผลักดันและแก้ปัญหาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับภาคเอกชน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก
กำลังโหลดความคิดเห็น