xs
xsm
sm
md
lg

3 องค์กรตั้งเป้าส่งออกอุตฯ อาหารปีนี้ 9.5 แสนล้าน ชี้ภัยแล้งฉุดข้าว-น้ำตาลวูบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


3 องค์กร สถาบันอาหาร-หอการค้า-ส.อ.ท.ตั้งเป้าหมายปี 2559 ส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทย 950,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.8% เผยแนวโน้มส่งออกข้าวจะอยู่ที่ 9 ล้านตันลดลง 8.1% น้ำตาลลดลง 1.2% จากภาวะภัยแล้ง แป้งมันสำปะหลังลด 1%

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า 3 องค์กรซึ่งประกอบด้วยสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้คาดการณ์แนวโน้มการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารปี 2559 จะมีมูลค่า 950,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.8% จากปี 2558 ซึ่งมีการส่งออกอยู่ที่ 897,529 ล้านบาท

“แนวโน้มอีก 5-6 ปีข้างหน้านั้น ทางสถาบันอาหารเองก็มุ่งหวังที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารมีการส่งออกมากขึ้น และหวังว่าจะมีการเติบโตไม่ควรจะต่ำกว่าปีละ 5% และหากเป็นไปได้การเติบโตควรจะเป็นตัวเลข 2 หลัก เพราะอนาคตมองว่าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานที่มีสัดส่วนมากกว่า 50% และไทยที่เป็นผู้ผลิตส่งออกอาหารอันดับ 14 ของโลก เราก็หวังว่าจะขยับมาเป็นอันดับ 10 ของโลกซึ่งทั้งหมดก็จะต้องไปปรับโครงสร้างการทำงานให้สอดรับกัน” นายอาทิตย์กล่าว

นางยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ปี 2559 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารกลุ่มสินค้าที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ไก่ จะเพิ่มขึ้น 3% จากตลาดญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ซึ่งเป็นตลาดใหม่ ปลาทูน่ากระป๋องที่จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพราะยังติดปัญหาปริมาณวัตถุดิบปลา เครื่องปรุงรส เนื่องจากเป็นสินค้าคุณภาพดีและมีเอกลักษณ์ และมีตลาดกระจายอยู่ทั่วโลกโดยไม่ได้พึ่งพิงตลาดหนึ่งตลาดใดในสัดส่วนที่มากเกินไปสำหรับ สับปะรดกระป๋อง คาดว่าปริมาณจะเพิ่มขึ้น 10% ส่วนมูลค่าเพิ่มขึ้น 5% จากแรงจูงใจด้านราคาที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว คาดว่าจะมีปริมาณส่งออก 9 ล้านตัน ลดลง 8.1% เมื่อเทียบกับปี 58 เนื่องจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังของไทยลดลงทำให้ผู้ส่งออกขาดแคลนข้าวใหม่ในการส่งออก ในขณะที่ฝั่งผู้ซื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาในแถบแอฟริกาก็ยังประสบภาวะเศรษฐกิจทำให้กำลังซื้อชะลอตัว ประกอบกับตลาดข้าวอันดับหนึ่งของไทย คือ ไนจีเรียตั้งกำแพงภาษีนำเข้าข้าวสูงถึง 60% รวมทั้งมีมาตรการเข้มงวดในการนำเงินดอลลาร์ออกนอกประเทศทำให้ผู้ซื้อขาดแคลนดอลลาร์ในการชำระค่าข้าว

ส่วนน้ำตาลทราย ปริมาณลดลงเล็กน้อย 1.2% เนื่องจากภัยแล้งทำให้พื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยลดลง และยังทำให้ระดับความหวานของอ้อยมีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะมีผลต่อปริมาณและคุณภาพน้ำตาลที่จะผลิตได้ ขณะที่แป้งมันสำปะหลังประสบปัญหาวัตถุดิบมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมีการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านมาแปรรูปมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศกัมพูชาคาดว่าปริมาณจะลดลง 1%
กำลังโหลดความคิดเห็น