เอเอฟพี - สื่อต่างชาติรายงานในวันอังคาร (1 มี.ค.) ว่าโรงงานทูน่ากระป๋องของไทยยอมจ่ายเงินชดเชยให้แก่แรงงานต่างด้าวจำนวน 48 ล้านบาท หลังถูกประท้วงอย่างหนักว่ามีการกดขี่เอาเปรียบแรงงาน
รายงานข่าวของสื่อต่างชาติระบุว่า แรงงานชาวพม่าหลายร้อยคนต้องใช้เวลาหลายเดือนในการต่อสู้เรียกร้องเงินชดเชยจากการเอาเปรียบของบริษัท โกลเด้น ไพรซ์ แคนนิ่ง ซึ่งมีโรงงานทูน่ากระป๋องอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร และมีการส่งออกสินค้าไปทั่วโลก
ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก แต่อุตสาหกรรมนี้มีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิ ทั้งยังขับเคลื่อนโดยแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจากพม่า และกัมพูชา
ธุรกิจหมวดนี้ถูกเพ่งเล็งอย่างหนักจากรัฐบาลของหลายชาติในช่วงปีหลังๆ โดยทางสหภาพยุโรปกำลังพิจารณาว่าจะแบนผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารทะเลจากไทยหรือไม่
บรรดากลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า แรงงานของโกลเด้นไพรซ์ได้รับค่าแรงน้อยกว่าขั้นต่ำตามกฎหมายมานานแล้ว ทั้งยังมีเรื่องการกดขี่จากหัวหน้า รวมถึงไม่มีการจ่ายเงินชดเชยให้กับกรณีอุบัติเหตุจากเครื่องจักรในโรงงาน
หลังมีการหยุดงานประท้วงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วด้วยจำนวนแรงงานนับพัน ทางบริษัทจึงส่งตัวแทนเข้าร่วมเจรจาพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล กับบรรดาแกนนำแรงงานต่างด้าว จนสามารถบรรลุข้อตกร่วมกันได้เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา
นายบุญลือ ศาสตร์เพชร เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่า ทางบริษัทจ่ายเงินให้แก่แรงงานรวมทั้งสิ้น 1,100 ราย เป็นเงินทั้งหมด 48 ล้านบาท โดยเริ่มจ่ายไปแล้วตั้งแต่คืนวันจันทร์จำนวน 700 ราย ส่วนที่เหลือได้รับเงินในวันอังคาร
ทางด้านบริษัท โกลเด้น ไพรซ์ แคนนิ่ง ที่มีแรงงานประมาณ 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากพม่า ปฏิเสธที่แสดงความเห็นกับเอเอฟพี
นายเสก วรรณเมธี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า การตกลงกันได้อย่างสันติระหว่างโกลเด้นไพรซ์กับแรงงาน ถือเป็นโมเดลสำหรับแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในอนาคต
“รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะใช้กรณีนี้ในการขจัดการเอาเปรียบแรงงานและยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่แรงงานในประเทศไทย” โฆษกฯ กล่าว
แอนดี ฮอลล์ นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานชาวอังกฤษ ผู้คอยช่วยเหลือแรงงานชาวพม่าของโกลเด้นไพรซ์ ได้คาดว่าความกลัวที่จะถูกแบนด้านการค้าทำให้รัฐบาลไทยต้องเคลื่อนไหวในครั้งนี้