xs
xsm
sm
md
lg

ไปดูท่าทีร่วม TPP! ภาคสังคม วิชาการ เกษตรขอรอบคอบ ธุรกิจเชียร์สุดตัว “พาณิชย์” ลุยต่อรับฟังความเห็นทั่วไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” โชว์ผลเปิดรับฟังความคิดเห็นกับภาคประชาสังคม นักวิชาการ ภาคธุรกิจ เกษตรและปศุสัตว์ พบเสียงส่วนใหญ่หนุนไทยเข้าร่วมข้อตกลง TPP แต่ต้องรอบคอบ เตรียมลงพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่ ก.พ.นี้ รับฟังความเห็นรอบด้าน ก่อนนำมาวิเคราะห์ผลดีผลเสียก่อนเสนอระดับนโยบายตัดสินใจ

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาความพร้อมของไทยต่อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ให้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์ผลดีผลเสียของการเข้าร่วมข้อตกลง TPP ของไทย ซึ่งได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร และภาครัฐไปแล้ว

ทั้งนี้ การเปิดรับฟังความคิดเห็นได้มุ่งประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเปิดตลาดสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการทางการค้า การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ การขึ้นทะเบียนตำรับยา การคุ้มครองสิทธิบัตร สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม

สำหรับผลการหารือกับภาคประชาสังคมและนักวิชาการ เช่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เครือข่ายมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น ส่วนใหญ่เสนอแนะให้มีการศึกษารายละเอียดของความตกลงอย่างรอบคอบ รวมถึงประเมินผลกระทบและผลประโยชน์ที่ทุกภาคส่วนจะได้รับทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

นอกจากนี้ ได้เสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการเกษตรให้ความรู้กับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึงเกี่ยวกับผลกระทบและมาตรการเยียวยา รวมทั้งการเตรียมความพร้อมต่อความตกลง TPP ส่วนเรื่องมาตรการควบคุมยาสูบ ไม่ถือเป็นข้อกังวลของภาคประชาสังคมไทย เนื่องจากเป็นข้อยกเว้นภายใต้ความตกลง TPP และสอดคล้องกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO)

ส่วนภาคธุรกิจ เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงสมาคมต่างๆ ส่วนใหญ่มีความพร้อมและสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมความตกลง TPP ในกลุ่มสินค้า เช่น ข้าว น้ำตาลทรายดิบ กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ ยา การขนส่งสินค้าทางอากาศ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และธุรกิจขายตรง เป็นต้น

ขณะที่ภาคเกษตรและปศุสัตว์ ได้แก่ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย สมาคมผู้เลี้ยงโคนม และสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เห็นว่า ไทยยังไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์กับประเทศสมาชิก TPP อาทิ สหรัฐฯ และออสเตรเลียได้ โดยได้เสนอแนะให้มีการประเมินอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ และต้องการให้มีมาตรการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ

ทางด้านการหารือกับภาครัฐ ส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่ต้องปรับแก้กฎหมายกฎระเบียบต่างๆ และสร้างกลไกบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งปรับปรุงระบบการตรวจสอบ และเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้มากขึ้น ตลอดจนจัดตั้งกองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา อาทิ การเกษตร เป็นต้น

นายวินิจฉัยกล่าวว่า ได้เตรียมที่จะลงพื้นที่รับฟังความเห็นทุกภาคส่วนในภูมิภาคต่างๆ อาทิ จ.ตากนครศรีธรรมราช อุบลราชธานี จันทบุรี เชียงใหม่ และขอนแก่น ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2559 เป็นต้นไป เพื่อนำผลการรับฟังข้อคิดเห็นของทุกภาคส่วนและผลการศึกษาของสถาบันปัญญาภิวัฒน์มาวิเคราะห์ผลดีและผลเสียอย่างรอบด้านก่อนนำเสนอระดับนโยบายเพื่อพิจารณาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น