รอยเตอร์ - จีนจะจัดการฝึกซ้อมร่วมทางทะเลเป็นครั้งแรกกับกองทัพเรือของกัมพูชาในสัปดาห์หน้า ในการเยือนที่เกิดขึ้นแทบจะทันทีภายหลังการเยือนกัมพูชาของเรือทหารญี่ปุ่น นับเป็นสัญญาณล่าสุดในการเพิ่มการปรากฏตัวของจีนในภูมิภาคที่ความตึงเครียดทางทะเลกำลังเพิ่มสูง
เรือรบ 3 ลำ พร้อมทหารเรือชาวจีน 737 นาย จะเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือใน จ.พระสีหนุ ในวันจันทร์ (22) เพียง 1 วัน หลังเรือ 3 ลำ ของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นมีกำหนดเดินทางออกจากกัมพูชา ซึ่งในเวลานี้กำลังจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับเจ้าหน้าที่กองทัพเรือของกัมพูชา
ขณะที่ความสนใจมุ่งไปยังกิจกรรมของจีนในทะเลตะวันออก และทะเลจีนใต้ แต่ปักกิ่งได้เสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการป้องกันกับกัมพูชาแน่นแฟ้นขึ้น ที่ทำให้จีนได้รับการสนับสนุนทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในกลุ่มอาเซียน
การเยือนของเรือรบจีนมีขึ้นท่ามกลางความว้าวุ่นใจในภูมิภาคเกี่ยวกับการติดตั้งขีปนาวุธชนิดยิงจากพื้นดินสู่อากาศของจีนบนเกาะพิพาทในทะเลจีนใต้ที่จีนควบคุมอยู่ ซึ่งปักกิ่งกล่าววันนี้ (17) ว่า เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการป้องกันตนเองที่จำเป็น
กองทัพเรือจีน จะดำเนินการฝึกซ้อมการกู้ภัยเพียงไม่กี่ชั่วโมง ใกล้กับสถานที่ที่เรือญี่ปุ่นกำลังเทียบท่าอยู่ในตอนนี้
“นี่จะเป็นความร่วมมือครั้งใหญ่ และการฝึกซ้อมร่วมในปฏิบัติการกู้ภัย สิ่งนี้จะช่วยเสริมความพร้อมเมื่อเกิดเหตุเรือจม หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ” พล.ร.ท.วาน บุนเนียง รองผู้บัญชาการกองทัพเรือกัมพูชา กล่าวต่อรอยเตอร์
จีนร่วมบริหารโรงเรียนนายร้อยในกัมพูชา และยังจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กองทัพกัมพูชา เช่น เฮลิคอปเตอร์ จรวดแบบประทับบ่ายิง และยานพาหนะต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็ส่งนักเรียนนายร้อยกัมพูชาไปฝึกอบรมที่จีน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า สหรัฐฯ วิตกว่ากัมพูชากลายเป็นรัฐที่อยู่ใต้อิทธิพลจีนที่อาจทำตามคำสั่งของปักกิ่งชี้นำฉันทมติของอาเซียน ซึ่งพนมเปญปฏิเสธความคิดดังกล่าว
วอชิงตันพยายามที่จะให้กัมพูชาอยู่ฝ่ายเดียวกันด้วยการฝึกซ้อมทางทหารร่วม แม้จะมีความขัดแย้งในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ย่ำแย่ โดยในเดือน พ.ย. สหรัฐฯ จัดการฝึกซ้อมการค้นหาและกู้ภัยครั้งที่ 6 ที่มีทหารเรือสหรัฐฯ 200 นาย และทหารเรือกัมพูชา 300 นายเข้าร่วม
สำหรับการฝึกซ้อมของจีนครั้งนี้ ทางสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงพนมเปญระบุในคำแถลงว่า ญี่ปุ่นจะไม่แสดงความคิดเห็นต่อกิจกรรมของประเทศที่สาม
การเยือนของเรือญี่ปุ่น และเรือจีนแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันแย่งชิงการมีอิทธิพล และกัมพูชาควรระมัดระวังในการจัดการความสัมพันธ์ของประเทศในอนาคต อู วิรัค จากสถาบันศึกษาวิจัย Future Forum กล่าว
“คำถามที่แท้จริงคือ กัมพูชาจะจัดการอย่างไรต่อสิ่งนี้ เมื่อญี่ปุ่นต้องการการเข้ามามีอิทธิพล ขณะที่จีนก็พยายามอย่างสุดความสามารถ ทั้งทางการเงิน และทางทหาร เราจำเป็นต้องระมัดระวังอย่างมาก เราต้องรักษาสมดุลในความสัมพันธ์กับทุกฝ่าย และท้ายที่สุดนั้นเราต้องพึ่งตนเอง” อู วิรัค กล่าว.