“พาณิชย์” ส่งหนังสือแจง USTR โชว์ผลงานความคืบหน้าการปราบปรามสินค้าละเมิด การแก้ไขกฎหมาย การเพิ่มประสิทธิภาพการจดทะเบียน และการเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วม มั่นใจสหรัฐฯ ปลดไทยออกจากบัญชี PWL แน่ รอลุ้นประกาศผลสิ้นเดือน เม.ย.นี้
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากรมฯ ได้ทำหนังสือไปถึงสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เพื่อชี้แจงถึงความคืบหน้าในการดูแล และแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย เพื่อประกอบการพิจารณาของสหรัฐฯ ที่จะจัดอันดับสถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2559 ที่จะมีการประกาศผลช่วงสิ้นเดือน เม.ย.นี้
“หวังว่าการจัดสถานะปีนี้สหรัฐฯ จะจัดอันดับไทยอยู่ในบัญชีที่ดีขึ้น เพราะ 8 ปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ จัดอันดับไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) มาโดยตลอด ทั้งๆ ที่ไทยมีการแก้ไขปัญหาในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการปรับปรุงกฎหมาย และมีความคืบหน้าไปในทางที่ดีขึ้น สหรัฐฯ ก็น่าจะพิจารณาให้ไทยหลุดจากบัญชี PWL ได้แล้ว โดยมาอยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง (WL)” นางนันทวัลย์กล่าว
สำหรับหนังสือที่ส่งให้กับ USTR ไทยได้ชี้แจงในประเด็นที่สหรัฐฯ หยิบยกขึ้นมาพิจารณาในการจัดสถานะประเทศไทย ได้แก่ การปราบปราม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปราบปรามและรณรงค์ประชาชนไม่ให้ใช้สินค้าละเมิด โดยมีผลการปราบปรามในปี 2558 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรมศุลกากร ที่ได้ร่วมกันจับกุมการละเมิด 7,437 คดี ของกลาง 3,846,969 ชิ้น การละเมิดอินเทอร์เน็ต 27 คดี ขโมยสัญญาณ 35 คดี ละเมิดซอฟต์แวร์ 308 คดี และมีการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปิดเว็บไซต์ละเมิดด้วย
นอกจากนี้ ยังได้ชี้แจงความคืบหน้าการพัฒนากฎหมาย โดยในปี 2558 กรมฯ ได้แก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์เสร็จแล้ว 2 ฉบับ และมีผลบังคับใช้แล้ว โดยจะครอบคลุมการละเมิดบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (TPM) และคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ์ (RMI) รวมถึงการคุ้มครองห้ามมิให้มีการลักลอบบันทึกในโรงภาพยนตร์ และอยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ที่จะขยายการคุ้มครองเครื่องหมายเสียงเพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน ได้เพิ่มประสิทธิภาพจดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างพัฒนาระบบการจดทะเบียนโดยใช้ e-Filing และอยู่ระหว่างขอเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรให้สอดคล้องกับปริมาณงานของกรมฯ รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายเพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาการจดทะเบียน
ส่วนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะสุข ในปี 2558 กรมฯ ได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความเห็นและข้อกังวลของผู้มีส่วนได้เสีย อาทิ การประชุมกับเจ้าของและตัวแทนทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ อยู่เป็นประจำ กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อรับฟังความเห็นก่อนแก้ไขกฎหมายและออกมาตรการด้านสุขภาพ เป็นต้น