กรมการขนส่งฯ เตรียมผ่อนผันเงื่อนไขจดทะเบียนรถตู้ส่วนบุคคล ใช้การเช่าที่จอดรถหรือที่ของบิดา มารดาได้ หลังประกาศเกณฑ์ที่จอดรถของตัวเองเท่านั้นทำสถิติจดทะเบียนลดฮวบ โดยจะผ่อนผัน 3 เดือนเพื่อประเมินผล ส่วนรถตู้โดยสารจ่อเลิกคุมกำเนิดหลัง ขบ.เสนอแผนติด GPS เพิ่มความปลอดภัยได้จริง ชง กก.ขนส่งกลางฯ พิจารณาใน มี.ค.นี้
นายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และผู้แทนจาก บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เพื่อพิจารณาปัญหาเรื่องการจดทะเบียนรถตู้ โดยในส่วนของรถตู้บุคคลนั้น ทาง ขบ.ระบุว่า หลังจากที่ได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ให้สามารถนำรถยนต์นั่ง (รถตู้) ที่มีที่นั่งเกิน 12 ที่นั่ง ซึ่งมิได้มีไว้เพื่อการประกอบการขนส่ง ธุรกิจ หรือการรับจ้างใดๆ มาขอจดทะเบียนเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ได้ ต้องมีหลักฐานแสดงสถานที่จอดรถที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองหรือคู่สมรส ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2558 ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่าสถิติการจดทะเบียนลดลงอย่างมาก
ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นว่าควรผ่อนผันเงื่อนไขดังกล่าว โดยให้สามารถใช้เป็นการเช่าที่จอดรถ หรือใช้พื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบิดา มารดา หรือบุตรได้ โดยจะผ่อนปรนเงื่อนไขเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อประเมินว่าจะมีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้นหรือไม่ จากนั้นจะพิจารณาเพื่อกำหนดเป็นการถาวรต่อไป โดยคาดว่า ขบ.จะดำเนินการออกประกาศผ่อนปรนเงื่อนไขดังกล่าวภายในสัปดาห์นี้
สำหรับเงื่อนไขการจดทะเบียนรถตู้ส่วนบุคคล และรถยนต์บรรทุก (รถกระบะ) ที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม ขบ.ได้มีการปรับปรุงกฎหมายโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2558 เพื่อให้แนวทางปฏิบัติมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเป็นการป้องกันการนำรถยนต์ส่วนบุคคลไปใช้ทำการขนส่งเพื่อการค้า ธุรกิจส่วนตัวหรือรับจ้าง โดยในการขอจดทะเบียนจะต้องยื่นคำขอพร้อมเหตุผลความจำเป็น หลักฐานภาพถ่ายตัวรถ รายละเอียดเกี่ยวกับชนิด แบบ ขนาดสัดส่วนและจำนวนที่นั่งจากผู้ผลิต และหลักฐานแสดงสถานที่จอดรถที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองหรือคู่สมรส ได้แก่ ภาพถ่ายแสดงพื้นที่จอดรถ แผนที่แสดงที่ตั้ง หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองสถานที่จอดรถเช่น สำเนาโฉนดที่ดิน ฯลฯ โดยรถนั้นต้องเป็นรถที่ใช้เพื่อการส่วนตัวเท่านั้น และผู้ยื่นคำขอต้องไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับการนำรถยนต์ส่วนบุคคลไปใช้ทำการขนส่งเพื่อการค้า ธุรกิจส่วนตัวหรือรับจ้าง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณากรณีรถตู้โดยสารสาธารณะ ซึ่งมีผู้ประกอบการต้องการขอจดทะเบียนเพิ่ม เช่น รถโดยสารระหว่างจังหวัด ผู้ประกอบการเสนอขอปรับเปลี่ยนสัญญาจากรถบัส 1 คัน เป็นรถตู้โดยสาร 3 คัน เนื่องจากมีความคล่องตัวในการให้บริการมากกว่าและสามารถแข่งขันในธุรกิจได้ ซึ่ง ขบ.จะต้องรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเสนอคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางพิจารณาในการประชุมเดือน มี.ค.นี้
ทั้งนี้ คณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางจะผ่อนผันให้มีการจดทะเบียนรถตู้โดยสารสาธารณะเพิ่มหรือไม่นั้น จะคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย พฤติกรรมการขับขี่ที่ทำให้ผู้โดยสารเกิดความไม่มั่นใจในการใช้บริการเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันยังพบรถตู้เกิดอุบัติเหตุ มีผู้เสียชีวิตบ่อย ซึ่งแนวทางการติดตั้ง GPS ในรถตู้ทุกคันจะสามารถควบคุมพฤติกรรมคนขับ ควบคุมความเร็ว เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ต้องรอการประเมินผลว่า หากการติดตั้ง GPS สามารถสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยได้ อาจจะมีการพิจารณาให้เปิดรับจดทะเบียนรถตู้โดยสารเพิ่มได้
สำหรับจำนวนรถตู้โดยสารสาธารณะทั่วประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 42,433 คัน โดยแยกเฉพาะรถตู้โดยสารสาธารณะหมวด 1 (เส้นทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องที่เข้าร่วมกับ ขสมก.) มีจํานวน 5,381 คัน, รถตู้โดยสารสาธารณะ หมวด 2 (เส้นทางจากกรุงเทพมหานครไปต่างจังหวัด ที่เข้าร่วมกับ บขส.) มีจํานวน 5,567 คัน