“พาณิชย์” จัดโครงการพี่จูงน้องเวอร์ชัน 2 ดึงพี่เบิ้ม ซีพี-สหพัฒน์-ช้าง-สิงห์-เอสซีจี ช่วยพา SMEs ออกไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ นำร่อง CLMV หลังปีก่อนพาไปค้าขายได้สำเร็จ
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ กำลังจัดทำโครงการพี่จูงน้อง เวอร์ชัน 2 ซึ่งจะร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) สหพัฒน์ ไทยเบฟเวอเรจ บุญรอดบริวเวอรี่ เอสซีจี เป็นต้น ให้มาเป็นพี่เลี้ยงหรือเป็นโค้ชให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ของไทยที่ต้องการจะออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นในการเจาะตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม) อาเซียน และประเทศอื่นๆ
“กรมฯ จะขอให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีการลงทุนใน CLMV อยู่แล้ว มาช่วยเป็นพี่เลี้ยง มาช่วยเป็นโค้ชให้กับ SMEs ที่มีความต้องการจะออกไปลงทุนใน CLMV ซึ่งจะเหมือนกับโครงการพี่จูงน้องที่ทำไปในปีที่แล้ว ที่ให้รายใหญ่พา SMEs ออกไปค้าขายในตลาดที่ตัวเองมีความเชี่ยวชาญ และประสบความสำเร็จมาแล้ว” นางมาลีกล่าว
ทั้งนี้ กรมฯ คาดว่าจะเปิดตัวโครงการได้ประมาณเดือน พ.ค.หรือ มิ.ย.2559 โดยจะมีการคัดแยก SMEs ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม แล้วทำการคัดเลือก SMEs ที่มีความพร้อม จากนั้นจะจัดแมชชิ่งให้รายใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละตลาดที่ SMEs ต้องการจะออกไปลงทุน มาช่วยฝึกอบรม ช่วยแนะนำโอกาส และลู่ทางการเข้าไปลงทุน และสุดท้ายให้ช่วยพาออกไปลงทุน
นางมาลีกล่าวว่า การผลักดันให้ธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ เป็นแนวทางใหม่ที่กรมฯ จะให้ความสำคัญ เพราะถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ไทยจะพึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องหารายได้ทางอื่นด้วย โดยจากนี้ไปแนวทางการสร้างรายได้จะไม่ดูเฉพาะแค่ด้านการค้า จะเชื่อมโยงไปถึงการลงทุน และการท่องเที่ยวที่จะต้องดำเนินการไปด้วยกัน เนื่องจากเกี่ยวพันกัน และสุดท้ายก็จะช่วยให้การค้าขยายตัวได้ตามมา
โดยเป้าหมายในขณะนี้ กรมฯ จะให้ความสำคัญกับตลาด CLMV เพราะหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้อาเซียนกลายเป็นตลาดเดียวกัน การผลักดันการค้า การลงทุน และการค้าบริการ จะต้องมองเป็นตลาดเดียว ซึ่งแนวทางการเจาะตลาด กรมฯ จะมุ่งเน้นเป็นเมืองๆ ไป เพราะแต่ละเมืองมีไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน โดยจะเข้าไปสร้างเครือข่าย และผลักดันให้ธุรกิจไทยเข้าไป ทั้งเข้าไปค้าขายและลงทุน
นางมาลีกล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์ในการทำงานของกรมฯ จะเร่งจัดหาข้อมูลธุรกิจเป้าหมายที่มีโอกาสในการเข้าไปลงทุนในประเทศเป้าหมาย ซึ่งเบื้องต้นจะต้องมีข้อมูลของตลาดอาเซียน จีน อินเดีย และขยายให้ครบทุกประเทศ จากนั้นจะผลักดันให้ธุรกิจคนไทยเข้าไปลงทุน ทั้งการเป็นซับคอนแทร็กต์ เข้าไปตั้งออฟฟิศ ตั้งสำนักงานตัวแทน เข้าไปร่วมลงทุน และลงทุนเองทั้งหมด รวมทั้งการใช้การลงทุนผ่านการขายแฟรนไชส์ และการให้ไลเซนส์ เป็นต้น