“ประยุทธ์” ไฟเขียวงบกลางปี 1,500 ล้าน ให้ “พาณิชย์” ทำยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการค้าภายในและต่างประเทศ เตรียมชง ครม.อนุมัติสัปดาห์หน้า ตั้งเป้าช่วยเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 15% ผ่านการจัดตั้งตลาดกลางและศูนย์กระจายสินค้า และตั้งเป้าการค้าเพิ่มอีก 15% ลงทุนเพิ่ม 20% หลังนำธุรกิจไทยลุยเจาะตลาด CLMV
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 1 ก.พ.ได้เข้าหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการค้าภายในประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับความเห็นชอบในหลักการจากนายกรัฐมนตรีอนุมัติงบกลางปีให้แก่กระทรวงพาณิชย์วงเงิน 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบผูกพัน 3 ปี แบ่งเป็นงบขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy) 620 ล้านบาท ผ่านกรมการค้าภายใน และงบการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (Global Economy ) จำนวน 880 ล้านบาท ผ่านกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันอังคารที่ 9 ก.พ.นี้ เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวนี้กระทรวงฯ จะนำไปใช้ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก เริ่มตั้งแต่การพัฒนาเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความเข้มแข็ง ต่อเนื่องไปจนถึงการพาออกไปทำตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะทำงานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม มหาดไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) รวมถึงคณะกรรมการประชารัฐชุดที่ดูแล SMEs การค้าการลงทุน และเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ กรมฯ จะร่วมมือกับกรมการค้าต่างประเทศและกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทำแผนให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรดั่งเดิมของไทย ตั้งเป้าเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 15% โดยมันสำปะหลังจะผลักดันให้ปลูกมันคุณภาพ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นสินค้าอื่นๆ ข้าว จะผลักดันให้ปลูกข้าวคุณภาพพิเศษ ป้อนความต้องการของตลาด และผลักดันการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) และทำตลาดให้กับสินค้าจีไอ
นอกจากนี้ มีแผนที่จะผลักดันตลาดชุมชน และเชื่อมตลาดชุมชนเข้าสู่ตลาดกลาง เพื่อช่วยในการกระจายสินค้า โดยจะพัฒนาให้ตลาดกลางใหญ่ขึ้น มีทั้งคลังสินค้า ห้องเย็น ไซโล ตั้งเป้านำร่อง 5 แห่งในเชียงราย อุดรธานี ราชบุรี จันทบุรี และนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นต้นแบบในการในการเป็นศูนย์กระจายสินค้าเกษตร ประมง ผักและผลไม้ และจะผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า 3 แห่ง ที่สระแก้ว อุดรธานี และราชบุรี เพื่อกระจายสินค้าไทยเข้าสู่ตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม)
ขณะเดียวกัน มีแผนที่จะผลักดันให้เกิดหมู่บ้านทำมาค้าขายให้ได้ไม่ต่ำกว่า 10 หมู่บ้าน เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจระดับฐานราก
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในส่วนการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ กรมฯ จะไม่ดูแค่ด้านการค้าเพียงอย่างเดียว แต่จะดำเนินการผลักดันทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวควบคู่กันไป โดยตลาดเป้าหมายอยู่ที่ CLMV โดยจะทำการเจาะตลาดเป็นรายเมือง สร้างเครือข่ายธุรกิจไทยกับตลาดเป้าหมาย ผลักดันให้ธุรกิจไทยเข้าไปลงทุน โดยให้ธุรกิจรายใหญ่ที่ไปลงทุนแล้วเป็นโค้ชให้ คล้ายๆ กับโครงการพี่จูงน้องที่เน้นด้านการค้าสินค้า ซึ่งตั้งเป้าผลักดันการค้าเพิ่มขึ้น 15% และการลงทุนเพิ่มขึ้น 20%
ส่วนการพัฒนาแบรนด์สินค้า ตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะพัฒนาแบรนด์สินค้าเพิ่มเป็น 650 แบรนด์ จากเดิม 500 แบรนด์ และในจำนวนนี้เป็นแบรนด์อินเตอร์ 40 แบรนด์ จากเดิมที่มีอยู่เพียงแค่ 10 แบรนด์
สำหรับการทำตลาดผ่านอี-คอมเมิร์ซ ผ่านเว็บไซต์ thaitrade.com จะผลักดันให้มีผู้ประกอบการเข้าซื้อขายในเว็บไซต์จาก 2 หมื่นรายเพิ่มเป็น 1 แสนรายใน 3 ปี และเพิ่มเป็น 2 แสนรายใน 5 ปี และจะทำการเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ระดับโลกอย่างอาลีบาบา สำหรับเจาะตลาดจีน และอะเมซอน สำหรับเจาะตลาดยุโรปและสหรัฐฯ