xs
xsm
sm
md
lg

กบร.ไฟเขียวยกเว้นเกณฑ์สัญชาติไทยไลเซนส์การบิน 4 ประเภท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยานและรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
กบร.เห็นชอบยกเว้นคุณสมบัติสัญชาติไทยในการออกไลเซนส์ให้กับเจ้าหน้าการบิน 4 ประเภท เช่น นักบิน ที่เรียนในสถาบันการศึกษาของไทยเพื่อจูงใจเพื่อนบ้านดันไทยเป็นฮับการบิน พร้อมเตรียมชง กบร.ภายในเดือน ก.พ.นี้เสนอเปิดเสรีการบินแบบมีเงื่อนไขในการบินเส้นทางสายหลัก สายรอง และสายย่อย ปกป้องแข่งขันรุนแรง และแยกเพดานราคาขั้นสูงโลว์คอสต์กับ Full Service

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยานและรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ได้มีมติเห็นชอบการยกเว้นคุณสมบัติสัญชาติไทย สำหรับใบอนุญาต ผู้ประจำหน้าที่บนอากาศยาน 4 ประเภท จากทั้งหมด 14 ประเภท ซึ่งโดยกฎหมายเดิมกำหนดให้การออกใบอนุญาตเจ้าหน้าที่ 14 ประเภทสำหรับผู้ที่ต้องมีสัญชาติไทย หากต้องการขอยกเว้นกรณีเป็นต่างชาตินั้นสามารถเสนอขอเป็นรายบุคคลได้ โดยประจำหน้าที่บนอากาศยาน 4 ประเภทที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่ 1. นักบินศิษย์การบิน ที่เป็นชาวต่างชาติแต่เข้ามาเรียนการบินในประเทศไทย โดยให้ได้รับใบอนุญาตของไทย 2. นักบินส่วนบุคคล เช่น เครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัว ซึ่งไม่เป็นการบินเชิงพาณิชย์

3. นักบินพาณิชย์ตรี เมื่อจบการศึกษาจากสถาบันในประเทศไทยจะได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ของไทย ซึ่งจะมีความสะดวกเพราะสามารถใช้ใบอนุญาตนักบินของไทยเป็นตัวรับรองในการทำการบินและขอใบอนุญาตที่ประเทศของตนเองได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จะจูงใจให้เพื่อนบ้านเข้ามาเรียนด้านการบินในประเทศไทยมากขึ้น และ 4. พนักงานอำนวยการบิน มีหน้าที่ในการตรวจสอบความเรียบร้อยในการบิน

“หลังจากนี้ กพท.จะต้องไปกำหนดกระบวนการในการออกใบอนุญาตกับผู้ได้รับการยกเว้น 4 ประเภท และออกประกาศโดย ผอ.กพท.ให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.พ. 2559 เป้าหมายหลักๆ คือต้องการส่งเสริมให้เพื่อนบ้านเข้ามาศึกษาในสถาบันการบินของไทย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพในด้านการบินมากกว่าเพื่อนบ้าน”

นอกจากนี้ยังเห็นชอบการปรับเปลี่ยนกฎหมายในการออกใบอนุญาตศูนย์ซ่อมอากาศยาน จากกฎกระทรวงเป็นข้อบังคับของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยให้เป็นอำนาจของ ผอ. กพท.ในการออกหรือต่อใบอนุญาต โดยใบอนุญาตศูนย์ซ่อมอากาศยานมีอายุ 3 ปี ทั้งนี้ เพื่อความคล่องตัว หลังจากที่มีการออก พระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 งานระเบียบข้อบังคับ กฎระเบียบต่างๆ จะโอนมาที่ กพท. ซึ่งให้อำนาจ ผอ. กพท.ในการออกประกาศข้อบังคับได้

***เตรียมพิจารณาแยกเพดานราคาขั้นสูงโลว์คอสต์กับ Full Service

นายจุฬากล่าวว่า ภายในเดือน ก.พ.นี้ กบร.จะมีการประชุมอีกครั้งเพื่อพิจารณาผลการศึกษาของ กพท. ในการกำหนดเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงของเส้นทางบินภายในประเทศ โดยแยกเพดานค่าโดยสารขั้นสูงระหว่างสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service) กับสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) ออกจากกัน จากปัจจุบันที่การบริการทั้งสองแบบใช้อัตราค่าโดยสารเพดานขั้นสูงเดียวกัน ซึ่งกลายเป็นช่องทางที่ทำให้โลว์คอสต์แอร์ไลน์ขายตั๋วโดยสารในราคาสูงสำหรับผู้โดยสารที่ไม่ได้จองตั๋วล่วงหน้า ส่วนเพดานค่าโดยสารขั้นต่ำนั้นจะไม่มีการจำกัด เพราะถือเป็นประโยชน์ต่อผู้โดยสาร

นอกจากนี้จะเตรียมเสนอผลการศึกษาเรื่องเส้นทางบินสายหลักและสายรอง โดย กพท.เห็นว่าไม่ควรเปิดเสรีหรือไม่จำกัดจำนวนสายการบินในแต่ละเส้นทาง โดยจะเสนอให้คงกำหนดเงื่อนไขไว้ตามเดิม คือ เส้นทางบินสายหลัก ซึ่งจะมีผู้โดยสารรวมตั้งแต่ 200,000 คนต่อปี, เส้นทางสายรอง มีผู้โดยสารรวมตั้งแต่ 50,000-200,000 คนต่อปี และเส้นทางสายย่อย มีผู้โดยสารรวมต่ำกว่า 50,000 คนต่อปี โดยผู้ประกอบการบินเส้นทางสายหลักจะต้องทำการบินสายย่อย 1 เส้นทาง นอกจากนี้ ในการประกอบการเส้นทางสายรองจะให้มีผู้ประกอบการได้ไม่เกิน 3 ราย ส่วนเส้นทางสายย่อยจะให้มีผู้ประกอบการได้ไม่เกิน 2 ราย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันรุนแรงจนเกินไป ซึ่งหลักเกณฑ์เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการออกใบอนุญาตผู้ประกอบการกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (Air Operation License : AOL) ส่วนการเปิดเสรีทางการบินแบบไม่มีข้อจำกัดนั้นจะเกิดขึ้นในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น