xs
xsm
sm
md
lg

กบร.ไฟเขียว “อู่ตะเภา-สมุย” เก็บค่าคัดกรองล่วงหน้า 1 พ.ค. 59

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม
กบร.อนุมัติสนามบินของบางกอกแอร์เวย์ส-กรมท่าอากาศยาน-อู่ตะเภา เก็บค่า APPS เริ่ม 1 พ.ค. 59 คาดอัตราที่ 35 บาท/คนเท่ากัน และให้ ทอท.เรียกเก็บค่าทำความสะอาดจากสายการบินที่เติมน้ำมันล้นพื้นสนามบิน และอนุมัติแผนความปลอดภัยการบินชาติ รับมือ ICAO ตรวจตามโครงการ USAP พร้อมสั่งศึกษาปรับลดเพดานค่าโดยสารขั้นสูง “โลว์คอสต์” แยกจากสายการบินที่บริการเต็มรูปแบบอุดช่องว่างโลว์คอสต์ขายตั๋วแพง

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ได้มีมติอนุมัติหลักการ การใช้งานระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (Advance Passenger Processing System : APPS) สำหรับท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ท่าอากาศยานของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่กรอบไม่เกิน 50 บาท โดยให้ทางผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พิจารณาอัตราที่เหมาะสม

และเห็นชอบให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ดำเนินการจัดเก็บค่าทำความสะอาดคราบน้ำมันที่ล้นจากปีกเครื่องบินจากผู้ประกอบการ ตามที่ ทอท.เสนอ ในอัตรา 3,800 บาทต่อครั้ง จากที่ผ่านมา ทอท.เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดคราบน้ำมันที่ผู้ประกอบการเติมน้ำมันแล้วล้นออกจากปีก ลงสูู่พื้นสนามบินซึ่งมีความเสี่ยงก่อให้เกิดอันตรายได้ โดย ทอท.ใช้น้ำทำความสะอาด แต่หลังจากนี้จะปรับไปใช้จุลินทรีย์พ่นเพื่อสลายน้ำมันได้เร็วขึ้น แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจึงต้องเรียกเก็บจากผู้ประกอบการ นอกจากนี้ กบร.มอบให้ กพท.ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อกำหนดบทลงโทษผู้ประกอบการอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้มีความระมัดระวังมากขึ้น โดย ทอท.จะจัดเก็บในส่วนของสนามบินที่ ทอท.รับผิดชอบ ส่วนสนามบินอื่นๆ ที่ต้องการจัดเก็บสามารถเสนอมาที่ กพท. พิจารณาได้ โดยจัดเก็บได้ไม่เกินต้นทุนจริง

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบร.ยังเห็นชอบแผนรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ ตามที่ กพท.เสนอ ซึ่งเป็นแผนหลักเพื่อให้ผู้ประกอบการแต่ละสนามบินนำไปปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเตรียมความพร้อมในการที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จะเข้ามาขอทำการตรวจสอบสายการบินและท่าอากาศยานของไทย ตามโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัย (Universal Security Audit Programme : USAP)

ส่วนการพิจารณาอัตราค่าโดยสารของเส้นทางบินภายในประเทศนั้น ที่ประชุมมีมติกำหนดให้กำหนดเพดานอัตราค่าโดยสาร โดยแยกเพดานค่าโดยสารขั้นสูงระหว่างสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service) กับสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์ แอร์ไลน์) ออกจากกัน จากปัจจุบันที่การบริการทั้งสองแบบ ใช้อัตราค่าโดยสารเพดานขั้นสูงเดียวกัน ซึ่งกลายเป็นช่องทางที่ทำให้โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ขายตั๋วโดยสารในราคาสูง สำหรับผู้โดยสารที่ไม่ได้จองตั๋วล่วงหน้า และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องกำหนดอัตราค่าโดยสารเพดานขั้นต่ำในส่วนของโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ เพื่อให้เป็นกลไกการตลาด

ทั้งนี้ กบร.ได้มอบหมายให้กรมท่าอากาศยาน ไปพิจารณาต้นทุนการดำเนินงานของสายการบินต้นทุนต่ำ เพื่อกำหนดเพดานขั้นสูงอัตราใหม่ และมาเสนอที่ประชุม กบร.อีกครั้งในเดือนมกราคม 2559

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยานและรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า กบร.เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกำหนดเพดานขั้นต่ำของค่าโดยสารโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ เพราะผู้โดยสารได้ประโยชน์ และราคาที่ถูกในแต่ละครั้งที่สายการบินกำหนด ไม่ได้ขายราคาเดียวกันทั้งลำ เช่น ตั้งราคา 500 บาท 800 บาท ไม่ใช่ราคานี้ทั้งลำ จึงไม่มีเหตุต้องไปจำกัดราคาเพดานขั้นต่ำ โดยจะต้องดูในเรื่องบริการที่ต้องเหมาะสม กับบริการLowcost แต่ไม่ใช่ Low Service

ส่วนการจัดเก็บค่า APPS อยู่ที่ กพท. ซึ่งที่ผ่านมาอนุมัติให้ ทอท.ดำเนินการจัดเก็บที่ท่าอากาศยานของ ทอท.6 แห่งไปแล้ว มีผลตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2558 ที่ผ่านมา โดย ทอท.เรียกเก็บเพิ่มจากผู้โดยสารระหว่างประเทศ 35 บาทต่อคนต่อเที่ยว ขณะนี้ผู้ประกอบการสนามบินอื่นๆ ได้เสนอขอเก็บค่า APPS เช่นกัน เช่น สนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย ซึ่ง กบร.อนุมัติเช่นกัน แต่การจัดเก็บแต่ละสนามบินจะต้องจ้างผู้ติดตั้งระบบเหมือนที่ ทอท.จ้าง และกำหนดอัตราค่าบริการซึ่งต้องแจกแจงต้นทุนของแต่ละสนามบิน โดยส่วนใหญ่จะไม่แตกต่างกัน และการจัดเก็บค่าAPPS ควรจะเป็นเกณฑ์เดียวกันกับที่ ทอท.จัดเก็บไปก่อน แล้ว โดยจะต้องแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 4 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น