“อาคม” พบ “สภาหอการค้าญี่ปุ่น” เผยบริษัทญี่ปุ่นสนใจขยายการลงทุนมาไทยในด้านระบบราง ทั้งรถไฟฟ้าในเมือง รถไฟความเร็วสูง รวมถึงร่วมทุนพัฒนาศูนย์ซ่อมที่อู่ตะเภา
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายอาคิโอะ มิมุระ ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Japan Chamber of Commerce and Industry - JCCI) และคณะนักธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าพบในโอกาสเยือนประเทศไทย โดยสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นมีบริษัทที่เป็นสมาชิกกว่า 2.5 ล้านบริษัท โดยสมาชิกมีความสนใจที่จะเข้ามาขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคมได้ชี้แจงถึงแนวนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง
โดยขณะนี้งานด้านคมนาคมขนส่งที่มีบริษัทญี่ปุ่นดำเนินงาน เช่น การผลิตขบวนรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งจะดำเนินการส่งมอบขบวนรถไฟฟ้าสายสีม่วงครบทั้ง 21 ขบวน 63 ตู้ให้แก่ประเทศไทยในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้, งานรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) ที่อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
ทั้งนี้ ทางบริษัทญี่ปุ่นยังให้ความสนใจเข้ามาร่วมการลงทุนในระบบรางของไทยอื่นๆ ทั้งระบบรถไฟฟ้าระหว่างเมือง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งโครงการที่อยู่ระหว่างนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติ ประกอบด้วยโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน, สายสีชมพู สายสีเหลือง, สีส้ม, สีเขียว ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมยังอยู่ระหว่างเริ่มการศึกษาเพื่อขยายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 อีกประมาณ 10 สายทาง
ขณะที่รถไฟระหว่างเมืองทางญี่ปุ่นให้ความสนใจ 3 เส้นทาง ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง, กรุงเทพฯ-หัวหิน รวมถึงโครงการความร่วมมือในการพัฒนารถไฟไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำผลการศึกษาเบื้องต้นเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบประมาณกลางปี 2559 และจะสรุปผลรายงานการศึกษาฉบับสุดท้ายเสนอคณะรัฐมนตรีได้ช่วงปลายปี 2559 โดยการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณปี 2561
ส่วนการขนส่งทางอากาศนั้น สายการบินญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาระบบขนส่งทางอากาศกับสายการบินของไทย โดยสายการบิน ANA ให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานของไทย ที่สนามบินอู่ตะเภา ด้านการท่องเที่ยวนั้น ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางมาประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยปี 2558 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยประมาณ 30 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากรัสเซียให้ความนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ขณะที่ปี 2558 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่นประมาณ 19.7 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 เพื่อรองรับการบินที่เติบโตเพิ่ม ทั้งการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มและทางวิ่งเส้นที่ 3 ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม หรือ EIA อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จะเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินได้อีก 10 จุด ในส่วนของท่าอากาศยานภูเก็ต ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้จะเปิดทดสอบสายการบินระหว่างประเทศเที่ยวบินแรกก่อนจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบประมาณเดือนพฤษภาคม