xs
xsm
sm
md
lg

เงินกู้ “มอเตอร์เวย์” ไม่คืบ “กรมทางหลวง” เสนอของบประมาณก่อสร้างแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” เผยเตรียมหารือสำนักงบประมาณ ขอปรับแผน ใช้งบประมาณก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา วงเงิน 84,600 ล้านบาท และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 55,620 ล้านบาท แทนเงินกู้ คาดจะทำให้งานเดินหน้าได้เร็วกว่า ขณะที่ MOU โอนเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ กทม.ยังไม่คืบ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประมูลก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม.วงเงิน 20,200 ล้านบาท ขณะนี้กรมทางหลวง (ทล.) ได้ลงนามสัญญากับผู้รับเหมาแล้ว 3 ตอน จากทั้งหมด 13 ตอน ส่วนมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 84,600 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมประมูลตอนที่ดำเนินการได้ก่อน เช่น ไม่ติดปัญหาการเวนคืน ส่วนมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 55,620 ล้านบาท จะเปิดประมูลได้ในช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค. 2559 ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะหารือกับสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังในการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงจากใช้เงินกู้มาเป็นใช้งบประมาณเพื่อก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมาและสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ซึ่งจะทำให้การเนินงานเร็วกว่าการใช้เงินกู้

รายงานข่าวแจ้งว่า กรมทางหลวงได้เสนอเรื่องมายังกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2559 ขออนุมัติเปลี่ยนแปลง การใช้เงินกู้มาเป็นใช้งบประมาณแทน สำหรับก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา วงเงิน 84,600 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ 2559 กำหนดแผนการลงนามสัญญาก่อสร้าง วงเงิน 30,000 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 39,970 ล้านบาท ในขณะที่ กรมทางหลวงได้เริ่มออกประกาศ TOR ประมูลสายบางปะอิน-นครราชสีมา แล้ว 1 ตอน (ตอนทางแยกต่างระดับสระบุรี) โดยจะเปิดซองราคาวันที่ 5 ก.พ. 2559 และลงนามสัญญาในวันที่ 29 เม.ย. 2559 ส่วนตอนที่เหลือซึ่งไม่คิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงแนวเส้นทางและผ่าน EIA แล้วจะของบกลางปี 2559 ดำเนินการ โดยอยู่ระหว่างเตรียมประมูล และคาดว่าจะประมูลได้ครบทุกตอนในเดือน มี.ค. 2559

ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 55,620 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 กำหนดแผนการลงนามสัญญาก่อสร้าง วงเงิน 10,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 33,700 ล้านบาท โดยกรมทางหลวงเตรียมการประมูลในเดือน ก.พ.-พ.ค. 2559 โดยเริ่มประกาศ TOR เดือน ก.พ. 2559 คาดเริ่มลงนามได้ประมาณวันที่ 31 ก.ค. 2559 (ภายหลังได้รับการอนุมัติ EIA ฉบับทบทวน) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาทบทวน EIA คาดว่าจะแล้วเสร็จ ในวันที่ 16 เม.ย. 2559

MOU โอนเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ กทม.ไม่คืบ

ด้านนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหาร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วานนี้ (27 ม.ค.) ว่าได้ติดตามความคืบหน้าการโอนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งจะต้องมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกัน ระหว่าง รฟม.กับ กทม.โดยขั้นตอนขณะนี้ทาง กทม.ได้เห็นชอบรายละเอียดร่าง MOU การเดินรถและการโอนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ส่วน รฟม.นั้นต้องการให้มีการรายงานมติที่ประชุม คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นเป็นประธาน ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบก่อน จึงยังไม่สามารถลงนามใน MOU ร่วมกันได้

เนื่องจากมติ คจร.ดังกล่าว ได้เห็นชอบในหลักการให้ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถส่วนต่อขยายทั้ง 2 สาย โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเจรจากับ กทม.ในส่วนการบริหารจัดการเดินรถ และให้เจรจาร่วมกับกระทรวงการคลัง, กทม. และ รฟม. ขณะนี้ทุกฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันแล้ว

สำหรับสาระสำคัญของร่าง MOU การโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือและใต้ให้ กทม. เช่น รฟม.จะดำเนินการบริหารงานก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 สายตามสัญญาต่อไป โดยรฟม.สงวนสิทธิ์ในการบริหารงานก่อสร้างงานโยธาทั้งหมดของโครงการตามแบบและสัญญาเป็นหลัก และการพิจารณาหรือการปรับเปลี่ยนงานใดๆ ให้ถือเป็นการวินิจฉัยของ รฟม.เป็นที่สิ้นสุด สำหรับงานงานระบบและการเดินรถ รวมถึงการส่งมอบพื้นที่เพื่อเข้าทำงานดังกล่าว ให้ กทม.ประสานกับ รฟม.ในรายละเอียดได้ทันที โดยเมื่อ กทม.รับมอบรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปแล้ว กทม.จะต้องรับภาระหนี้สิน ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และภาระผูกพันอื่นๆ ที่ รฟม.ใช้ในการดำเนินโครงการไปพร้อมกันด้วยส่วนการประเมินมูลค่าโครงการที่เหมาะสมสำหรับการโอนภาระทางการเงิน

โดยล่าสุด การก่อสร้างงานโยธาสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กม. คืบหน้ากว่า 70% แล้ว ส่วนสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต ระยะทาง 19 กม. คืบหน้ากว่า 1.41%
กำลังโหลดความคิดเห็น