เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้จัดคณะผู้แทนการค้าและการลงทุนภายใต้โครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือที่เรียกกันว่า YEN-D Program โดยได้นำคณะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยออกไปพบปะกับนักธุรกิจรุ่นใหม่ของกัมพูชา เพื่อขยายตลาดและสร้างคอนเนกชันในการทำธุรกิจร่วมกัน
ก่อนที่จะตามนักธุรกิจไทยรุ่นใหม่ไปขยายธุรกิจในตลาด CLMV ขอแนะนำโครงการ YEN-D ว่าคืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไรให้ทราบกันก่อน
โครงการ YEN-D หรือมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Young Entrepreneur Network Development Program เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยกับผู้ประกอบการของเพื่อนบ้าน เน้น CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม) วิธีการก็คือ นำผู้ประกอบการไทยกับเพื่อนบ้าน กำหนดอายุไม่เกิน 45 ปี เป็นทายาทธุรกิจหรือดำเนินธุรกิจของตัวเอง มาฝึกอบรมร่วมกัน เพื่อสร้างความรู้จัก คุ้นเคย และสร้างมิตรภาพระหว่างกัน ก่อนที่จะขยายไปสู่การทำธุรกิจร่วมกัน
ที่ผ่านมาได้ฝึกอบรมไปแล้ว 4 รุ่น รุ่นละ 7 วัน มีนักธุรกิจรุ่นใหม่ของไทยผ่านการฝึกอบรมไปแล้ว 120 คน และนักธุรกิจของเพื่อนบ้าน CLMV อีก 120 คน และที่น่าสนใจก็คือ ผลจากการมาอบรมร่วมกันได้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจไปแล้วรวมมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท และคาดว่ามูลค่าจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงการจัดทำโครงการ YEN-D ว่า เคยพูดคุยกับนักธุรกิจรายใหญ่หลายคน แล้วหลายคนก็มาปรับทุกข์ว่าลูกๆ หลานๆ ไม่สนใจทำธุรกิจ ขอให้ช่วยเปิดครอสฝึกอบรมให้หน่อย อย่างนักธุรกิจค้าข้าวก็มาขอให้เปิดคอร์สสอนเรื่องการทำธุรกิจค้าข้าว ก็เลยมาคิดว่าจะทำอย่างไรดี เลยมานั่งคุยกัน ก็มาจบที่จะทำโครงการ YEN-D เพื่อผลักดันให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
“เราเลยมาคิดว่า ถ้าจะฝึกอบรมแล้วทำเฉพาะนักธุรกิจไทยก็จะรู้จักกันเอง เลยคิดเชิญนักธุรกิจต่างประเทศมาด้วยเพื่อมาสร้างคอนเนกชัน สร้างโอกาสในการทำธุรกิจ จึงเริ่มที่ตลาด CLMV ก่อน เพราะสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการมุ่งตลาดอาเซียน และขยายการค้าชายแดน เพราะได้ตั้งเป้าไว้สูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท เลยต้องหาทางเพิ่มทุกทาง และ YEN-D ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยขยายการค้าได้” นางดวงพรกล่าว
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะที่รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า การจัดทำโครงการ YEN-D รุ่นที่ 1 ได้นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพมา 120 คน คนเหล่านี้เป็นคนที่มีไฟแรง มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นพวกอยากทำธุรกิจ พอเราดึงให้มาอบรมร่วมกัน โดยเชิญนักธุรกิจจาก CLMV มาด้วยมันเลยเกิดคอนเนกชัน มีผลต่อการทำธุรกิจในระยะยาว เพราะเพื่อนจะนำธุรกิจที่ดีมาให้ และหลังจากอบรมเสร็จก็มีการตามผลต่อเนื่อง จัดให้ทั้งกลุ่ม มีการพบปะกัน เพื่อช่วยแนะนำโอกาสในการทำธุรกิจระหว่างกัน แล้วยังขยายต่อนำไปพบปะกับนักธุรกิจใน CLMV เพื่อสานสัมพันธ์และสร้างโอกาสในการทำธุรกิจให้ได้เพิ่มขึ้น
“ต้องบอกว่า YEN-D เป็นยุทธศาสตร์การทำงานที่แนบเนียนที่สุด เพราะเราเป็นศูนย์กลางในอาเซียน เราใช้โอกาสจากการเป็นศูนย์กลาง แล้วขยายการทำธุรกิจของเราเข้าไปในอาเซียน ซึ่งเริ่มจากการสร้างความเป็นเพื่อน แล้วให้เพื่อนที่อยู่ใน CLMV ช่วยผลักดันให้ธุรกิจของไทยเจาะลึกเข้าไปในตลาด”
ทั้งนี้ กรมฯ กำลังจะเปิดตัวโครงการ YEN-D ซีซัน 2 ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มี 4 รุ่นเหมือนเดิมตามตลาดเป้าหมาย คือ CLMV แต่จะเพิ่มจำนวนผู้เข้ารับการอบรมเป็นรุ่นละ 80 คน ฝ่ายไทย 40 คน ฝ่ายเพื่อนบ้าน 40 คน โดยจะขยายรับข้าราชการรุ่นใหม่ทั้งของไทยและประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วมด้วย และคาดว่าจะทำเต็มที่ไม่เกิน 3 รุ่น
ขณะที่ความคิดเห็นของนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ได้เข้าร่วมโครงการ YEN-D ต่างแสดงความเห็นขอบคุณที่รัฐจัดโครงการแบบนี้ เพราะเป็นการช่วยสร้างโอกาสในการทำธุรกิจได้จริง และดีกว่าที่จะต้องออกไปติดต่อทำธุรกิจด้วยตัวเอง
น.ส.สุชาดา เจนพณิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเจเพรส จำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นในชาย กล่าวว่า เดิมทำธุรกิจแต่ภายในประเทศ แล้วรับจ้างผลิตให้แบรนด์ต่างประเทศ เช่น Levi’s , DKNY และ ARMANI เป็นต้น ไม่เคยทำธุรกิจส่งออก แต่เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องออกไปทำตลาดต่างประเทศ คิดอยู่ว่าจะไปยังไงต่อ พอดีมาเจอโครงการ YEN-D ก็เลยสมัครเข้ามาร่วม เป็นโอกาสดีที่ได้พบปะกับนักธุรกิจของเพื่อนบ้าน แล้วก็ตรงตามที่อยากทำ คือ ตลาด CLMV เพราะเห็นว่ารูปร่าง ลักษณะ คล้ายกับคนไทย น่าจะทำตลาดได้ไม่ยาก
“สินค้าของเราส่งขายเข้าสู่ตลาดเพื่อนบ้านได้แล้ว คือ พม่า สปป.ลาว แต่ยังไม่มีกัมพูชา กับเวียดนาม พอมาสมัครเข้าอบรมในโครงการ YEN-D รู้จักนักธุรกิจจากกัมพูชาหลายคน เป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น แม้ว่าเพื่อนที่มาเข้าร่วมอบรมไม่ได้ทำธุรกิจตรงกับเรา แต่เพื่อนของเพื่อนก็แนะนำเพื่อนให้เราได้ แล้วตอนนี้ก็เริ่มที่จะเจาะธุรกิจเข้าไปในตลาดกัมพูชาแล้ว โดยมีเทรดดิ้งที่เสียมราฐ ทำมาร์เกตติ้งออนไลน์ ซึ่งมั่นใจว่าจะขยายตลาดได้แน่นอน แล้วต่อไป อยากจะขยายตลาดเข้าสู่ตลาดอาเซียนทั้งหมด แต่ขอเริ่มที่ CLMV ให้ดีก่อน” น.ส.สุชาดากล่าว
น.ส.ญาดา โคระทัต ผู้จัดการการตลาด บริษัท อินซ์เทค โมโทรโลจิคอล เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจให้บริการตรวจสอบเครื่องมือในอุตสาหกรรม บริการเป็นที่ปรึกษาการเข้าสู่ระบบ ISO และจำหน่ายเครื่องมือที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และห้องปฏิบัติการ กล่าวว่า ปกติธุรกิจของบริษัทมีลูกค้าจาก สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนามอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่ามีโอกาสในการขยายตลาดได้เพิ่มขึ้น หากหาตัวแทนในตลาดเป้าหมายได้ แล้วจังหวะดีกับที่ไปเห็นโครงการ YEN-D ในเฟซบุ๊กที่เพื่อนโพสต์มาก็เลยไปสมัคร ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมในกลุ่ม สปป.ลาว พอไปอบรมก็ได้เพื่อนเป็นคนลาว และเมื่ออยากตั้งตัวแทนจำหน่ายก็ให้เขาช่วยเช็ก พบว่าทำธุรกิจจริง ตอนนี้กำลังเจรจากันอยู่ ถ้าตั้งสำเร็จก็จะช่วยขยายธุรกิจของบริษัทได้แน่นอน
“ไม่คิดว่าบริษัทเล็กๆ จะได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรม เพราะเดิมคิดว่าต้องมีเส้นสาย แต่ไม่ใช่เลย กรมฯ เขาเลือกจากสินค้าที่มีศักยภาพ เลือกจากผู้ประกอบการที่มีความตั้งใจในการทำธุรกิจและขยายธุรกิจออกไปในตลาดเพื่อนบ้าน” น.ส.ญาดากล่าว
น.ส.รัชญา เตชะปัญญารักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัท ย่งไทยการยาง จำกัด ผู้ผลิตยางอุตสาหกรรมทุกประเภท กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการ YEN-D ได้สร้างโอกาสในการขยายธุรกิจของบริษัทเข้าสู่ตลาดเพื่อนบ้าน เพราะปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านมีการขยายตัวด้านการก่อสร้างมาก จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจของบริษัทที่ผลิตยางได้ทุกประเภท ทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ ก่อสร้าง ยางกันซึม และยางที่ใช้ในภาคคมนาคม แต่ก็ต้องระวังคู่แข่งอย่างจีนและเวียดนามที่ราคาถูกกว่า แต่มั่นใจว่าสินค้าของเรามีคุณภาพดีกว่า จึงแข่งขันได้ และอยากให้ภาครัฐทำโครงการดีๆ แบบนี้ เพื่อช่วยส่งเสริมด้านการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการไทยต่อไป
น.ส.นิษฐา แสงสุริยะฉัตร ผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัท ฉัตรชัยแพทย์แผนโบราณ จำกัด ผู้ผลิตยาสมุนไพรไทยยี่ห้อ “หมอเส็ง” กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทกำลังขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยพยายามที่จะเจาะเข้าตลาดเพื่อนบ้าน ซึ่งได้ไปตลาด สปป.ลาวแล้ว กำลังหาลู่ทางขยายเข้าสู่ตลาดกัมพูชา โดยจะเน้นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความงามของผู้หญิงและการรักษาสุขภาพ มองว่ามีโอกาสขยายตัวได้สูง
ทั้งนี้ การเข้าร่วมโครงการ YEN-D ทำให้เกิดการต่อยอดกับสิ่งที่บริษัทกำลังจะดำเนินการเจาะตลาดเพื่อนบ้าน โดยขณะนี้กำลังหาผู้แทนจำหน่ายในกัมพูชา ซึ่งข้อมูลส่วนหนึ่งได้จากเพื่อนนักธุรกิจที่มาอบรมด้วยกัน และยังช่วยสกรีนคน สกรีนธุรกิจให้กับเราได้ในเบื้องต้น เพราะข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถหาจากอินเทอร์เน็ตได้
นายกิตติพงศ์ งามไพบูลย์สมบัติ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.งามไพบูลย์การยาง ผู้ผลิตยางรถยนต์ กล่าวว่า ได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ YEN-D มาก เพราะหากอยากจะรู้จักนักธุรกิจของประเทศเพื่อนบ้านทีเดียว 30 คนอาจต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี แต่มาที่นี่ใช้เวลาเพียงแค่ 7 วันก็รู้จักหมด แล้วไม่ใช่แค่ธุรกิจเดียว มีธุรกิจหลากหลายมาก แม้จะไม่ตรงกับธุรกิจของเรา แต่สามารถให้ช่วยแนะนำ ต่อยอดได้
“ผมเข้าฝึกอบรมกับกลุ่ม สปป.ลาว เพื่อนนักธุรกิจที่มาอบรมด้วย ได้ช่วยแนะนำโอกาสทางธุรกิจ จนขณะนี้สามารถที่จะขยายตลาดเข้าสู่ สปป.ลาวได้แล้ว และกำลังมองโอกาสในตลาดเพื่อนบ้านอื่นๆ ซึ่งก็คงต้องอาศัยให้เพื่อนๆ ที่ทำธุรกิจในตลาดเพื่อนบ้านช่วยแนะนำ โดยใช้โอกาสเดินทางไปกับกรมการค้าต่างประเทศ ที่มีโครงการนำนักธุรกิจ YEN-D ไปพบปะกับนักธุรกิจ YEN-D ของเพื่อนบ้าน เพราะคนที่เพื่อนแนะนำมาถือเป็นการสกรีนให้แล้วชั้นหนึ่ง การสานต่อธุรกิจก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้” นายกิตติพงศ์กล่าว
น.ส.สุดสวาท จิรัปปภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ็กโกร (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้า ส่งออก และจัดจำหน่ายเคมีเกษตร (ยาต้นไม้) กล่าวว่า การเข้ามาร่วมโครงการ YEN-D สามารถต่อยอดธุรกิจจากการได้เพื่อนในการเข้ามาฝึกอบรมทั้งผู้ประกอบการไทยด้วยกันและผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าในช่วงแรกของการเข้าร่วมจะยังไม่เกิดธุรกิจ หรือมียอดสั่งซื้อสินค้าขึ้นมา แต่ในกลุ่มเพื่อนธุรกิจที่เข้าอบรมร่วมกันได้มีการติดต่อกับเพื่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งได้แนะนำข้อมูลในด้านแหล่งวัตถุดิบในการนำเข้ามาผลิตสินค้า รวมถึงการให้ข้อมูลในแง่กฎระเบียบทางการค้าต่างๆ ถือว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์และช่วยธุรกิจได้มาก
“ในส่วนของบริษัท แอ็กโกร มองเป้าหมายการทำตลาด CLMV ไว้ เพราะมีลักษณะคล้ายกับไทย คือมีการปลูกพืชเกษตรจำนวนมาก และสินค้าที่บริษัทขายอยู่ คือ เคมีเกษตรที่ครอบคลุมตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว และดำเนินธุรกิจมากว่า 40 ปีแล้ว และก่อนหน้านี้เป็นการส่งออกสินค้าตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน แต่อนาคตมีแผนที่จะหาตัวแทนจำหน่ายใน CLMV โดยเริ่มที่กัมพูชาก่อน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการคุยเพื่อหาพันธมิตรในการจำหน่ายสินค้าให้ และยังเป็นการรองรับหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้วย” น.ส.สุดสวาทกล่าว