ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “กฟผ.” ร่วมเปิดศูนย์สมุนไพรและเภสัชกรรมไทย นำร่องยึดหลักปลูกแบบผสมผสานกว่า 20 ไร่ ตามแนวสายส่งไฟฟ้าที่ ต.เขาพระ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
วันนี้ (28 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านเขาพระ ต.เขาพระ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา กฟผ.ร่วมกับ ม.ธรรมศาสตร์ และชุมชนบ้านเขาพระ ทำพิธีเปิดศูนย์สมุนไพร และเภสัชกรรมไทย บ้านเขาพระ โดยมี นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์สมุนไพรฯ โดยมีศูนย์วนวัฒนวิจัยภาคใต้ จ.สงขลา อบต.เขาพระ คณะแพทย์แผนไทย และคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.สงขลานครินทร์ มรภ.สงขลา ม.ทักษิณ เครือข่ายแพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้าน จ.สงขลา ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน นักเรียน สื่อมวลชน และชุมชนบ้านเขาพระมาร่วมในงานกว่า 200 คน
โดยความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และมหาวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภาภรณ์ ม.ธรรมศาสตร์ ในโครงการสื่อสารและสร้างเครือข่ายชุมชนพึ่งตนเอง พื้นที่ใกล้แนวสายไฟฟ้าอย่างยั่งยืน นำร่อง 3 ภูมิภาค คือ ภาคใต้ ชุมชนใกล้แนวสายส่งไฟฟ้า 115 กิโลโวลต์ ภาคเหนือ ชุมชนใกล้แนวสายส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชุมชนใกล้แนวสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ซึ่งกิจกรรมของโครงการในแต่ละภาคจะมีความแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงปัญหา และความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ
สำหรับในภาคใต้ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ต.ค.2556 โดยหลักการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนตามวิถีการพึ่งตนเอง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน หนึ่งในหลายกิจกรรมที่ดำเนินการ คือ โครงการ ศูนย์สมุนไพรและเภสัชกรรมไทย บ้านเขาพระ อ.รัตภูมิ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนด้วยการยึดทุนทางวิถีชีวิต วัฒนธรรม และทรัพยากรในชุมชนเป็นฐานหลัก
ทั้งนี้ ได้ดำเนินการผ่านขั้นตอนพัฒนาองค์ความรู้ให้สมาชิกแล้ว และเริ่มปลูกพืชสมุนไพรที่มีมาตรฐานสำหรับการแปรรูป โดยมีภาคีเครือข่าย นักวิชาการจากคณะแพทย์แผนไทย และคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.สงขลานครินทร์ มาร่วมออกแบบแปลงปลูกพืชสมุนไพรร่วมกับชุมชน เพื่อมาตรฐาน และคุณภาพตามหลักวิชาการ ยึดหลักการปลูกแบบผสมผสาน
ซึ่งสอดคล้องต่อภูมิปัญญา และวิถีการปลูกดั้งเดิมของชุมชน ประกอบด้วยพืชสมุนไพรทั่วไป 6 ชนิด ได้แก่ พริกไทย ดีปลีเชือก ไพล ว่านชักมดลูก ขมิ้นชัน และฟ้าทะลายโจร นอกจากนี้ ยังปลูกสมุนไพรท้องถิ่นที่พบมากในเทือกเขาแก้ว ได้แก่ ปลาไหลเผือก และหัวไอ้เหล็ก ทั้งนี้ แปลงปลูกพืชสมุนไพรส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่อยู่ใต้แนวสายส่งไฟฟ้า จากพื้นที่สมาชิกรวมทั้งหมดประมาณ 20 ไร่
การปลูกสมุนไพรไม่เพียงแต่สามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้แก่เกษตรกร ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพยาสมุนไพรไทย การใช้พื้นที่ใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงให้เกิดประโยชน์ และเป็นการอนุรักษ์พืชสมุนไพรให้ยั่งยืน รวมทั้งสร้างระบบนิเวศเกษตรที่ดีในชุมชน สร้างความอุดมสมบูรณ์ของเขตป่าต้นน้ำ ต.เขาพระ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ซึ่งในการปลูกพืชสมุนไพรนำร่องในครั้งนี้ จะมีผู้ซื้อ และผู้ขายจากมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกด้วย หลังเสร็จพิธีเปิดศูนย์ฯ ได้มีการทำกิจกรรมร่วมกันโดยการนำสมุนไพรชนิดต่างๆ ลงปลูกในศูนย์สมุนไพรฯ อีกด้วย