สธ. เตรียมเปิด รพ. แพทย์แผนไทย เพิ่มอีก 6 แห่ง พร้อมดันยาสมุนไพรอีก 10 รายการ เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ กลางปี 2559 ด้านอธิบดีกรมแพทย์แผนไทยเผย ผลศึกษายารักษามะเร็งตับ “เบญจอำมฤตย์” ให้ผลดี ขณะที่ “ชามาลาซ่อนกลิ่น” ช่วยบำรุงหัวใจ โลหิต ขับปัสสาวะ ชี้ ข้อมูลสมุนไพรควรเช็กก่อนแชร์ เผยกำลังทำฐานข้อมูลให้ความรู้
วันนี้ (17 ส.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (ยศเส) และพิพิธภัณฑ์สมุนไพรไทย ซึ่งใช้เป็นแหล่งอ้างอิงวิชาการด้านสรรพคุณที่ใช้ผลิตยาไทยกว่า 1,000 รายการ ว่า รพ. แห่งนี้ถือเป็น รพ. ระดับปฐมภูมิแห่งแรกในไทยที่ให้บริการด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกโดยตรง ส่วน รพ. สังกัด สธ. ได้เปิดบริการแพทย์แผนไทยฯกระจายทั่วประเทศแล้ว โดยในปี 2558 มีทั้งหมด 16 แห่ง โดยปี 2559 มีนโยบายจะเพิ่มอีก 6 แห่ง นอกจากนี้ กำลังเร่งผลักดันเพิ่มยาสมุนไพรที่มีผลการวิจัย เข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติอีก 10 รายการ จากเดิมที่มี 72 รายการ เช่น ตำรับรักษาโรคมะเร็ง ตำรับรักษาโรคนอนไม่หลับ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาประสิทธิภาพ และผลข้างเคียง คาดว่า จะประกาศใช้ในกลางปี 2559 ทั้งนี้ ยาสมุนไพรไทยในบัญชียาหลักฯ บางตัวใช้ได้ผลดีมาก เช่น ยาธาตุอบเชยใช้ขับลม และยามะขามแขก รักษาอาการท้องผูก ขณะนี้สามารถนำมาใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันได้แล้ว มูลค่าการใช้ยาประเภทนี้ปีละ 20 - 30 ล้านบาท
นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า รพ. แพทย์แผนไทยฯ ยศเส มีบุคลากรสาขาแพทย์แผนไทยแพทย์ทางเลือก 80 คน และมีแพทย์แผนปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา 1 คน ให้บริการตรวจรักษา ส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพด้วยการนวด อบ ประคบ ฝังเข็ม และยาสมุนไพร 72 รายการ เบิกค่ารักษาได้ทุกสิทธิ มีคลินิกเฉพาะทางโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง อัมพาต อัมพฤกษ์ เป็นต้น มีห้องตรวจโรค 6 ห้อง มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 100 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง ปวดเข่า ปวดเอว อัมพฤกษ์ อัมพาต บริการฝังเข็ม นวดประคบวันละ 60 - 70 ราย หลังรักษาอาการดีขึ้น ขณะนี้เปิดรับผู้ป่วยในแล้ว 13 เตียง การดูแลจะเสริมเรื่องการออกกำลังกายด้วยท่าฤาษีดัดตน สวดมนต์ เพิ่มภูมิต้านทานร่างกาย และเพิ่มบริการส่งเสริมสุขภาพนวดเท้า นวดตัว นวดน้ำมัน ในปี 2560 จะเพิ่มเป็น 30 เตียง
“ที่ผ่านมา กรมฯ มีการวิจัยพัฒนาในการนำตำรับยาสมุนไพรรักษาโรคมะเร็งตับ มาใช้ และได้ให้การบริการแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่หมดทางรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว โดยทำการรักษาที่ รพ.ยศเส คือ ตำรับยาเบญจอำมฤตย์ ประกอบด้วย รงทอง มหาหิงค์ ยาดำ ตองแตก (ทนดี) พริกไทย ดีปลี ดีเกลือฝรั่ง มะกรูด และขิง ซึ่งจากการติดตามตลอด 3 เดือน ที่ผู้ป่วยมารับยา พบว่า มากว่าร้อยละ 70 ของผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เช่น ระบบขับถ่าย อาการท้องอืด และการรับประทานอาหารดีขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ บางรายขนาดของมะเร็งเล็กลง บางรายเท่าเดิม ถือเป็นทางเลือก และกรมฯ ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อบำบัดโรคอื่น ๆ ด้วย” นพ.ธวัชชัย กล่าว และว่า จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่ยาสมุนไพรรักษาโรค กรมฯ มีการทำเครื่องดื่มสมุนไพรบำรุงสุขภาพมากมาย อาทิ ชามาลาซ่อนกลิ่น ประกอบด้วย ขลู่ มะตูม ดอกกระดังงา หญ้าหวาน ซึ่งให้ความหอมได้ด้วยการโรยดอกมะลิ ดอกกุหลาบ ใบเตย โดยสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต เป็นต้น
นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า สำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรอ้างสรรพคุณรักษาโรคสารพัด หรือกินแล้วเป็นยาอายุวัฒนะ หากเป็นการอวดอ้างสรรพคุณก็จะเข้าข่ายผิดข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) ส่วนเรื่องผลิตภัณฑ์สมุนไพรรักษาโรค จะเป็นในรูปบำบัดรักษา หรือบรรเทาอาการให้ดีขึ้น ซึ่งจะต้องผ่านเกณฑ์การผลิตของ อย. และกรมการแพทย์แผนไทยฯ โดยผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรจะมีมาตรฐาน 3 กลุ่ม คือ ระดับสูง ระดับกลาง และระดับพื้นบ้าน ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบว่ามีแห่งไหนได้มาตรฐานจะได้รับประกาศนียบัตร ส่วนพวกข้อมูลที่มีการโพสต์ในโลกออนไลน์ต้องระมัดระวัง เพราะมีทั้งจริงและไม่จริง ที่สำคัญ ไม่มีการเช็กก่อนแชร์ข้อมูล ขณะนี้กรมฯ ได้จัดทำฐานข้อมูลสรรพคุณสมุนไพรไทยที่ได้รับการยอมรับ และนำไปใช้เป็นยา หรือการบำรุงสุขภาพ และจะมีการรวบรวมตำรับยาที่ผ่านการวิจัย เพื่อเป็นข้อมูลให้กับคนไทยด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็ว ๆ นี้ โดยระหว่างนี้หากสงสัยข้อมูลใดๆเกี่ยวกับสมุนไพร ติดต่อมาได้ที่กรมแพทย์แผนไทยฯ ในเวลาราชการ โทร. 02-591-7007
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่