xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารบ้านเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วธ. จัดทำหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย สดุดีสัตตบูรพกษัตริยาธิราช ปลูกฝังคนรุ่นหลังรับรู้ความเป็นมาของชาติ
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้จัดพิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย ฉบับภาษาไทย 10,000 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนชาติไทยและประวัติศาสตร์ชาติไทย และกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำเป็นฉบับภาษาอังกฤษ สำหรับเผยแพร่แก่ชาวต่างชาติให้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย พร้อมทั้งหนังสือพระบรมราชานุสรณ์ สัตตบูรพกษัตริยาธิราช อุทยานราชภักดิ์ 1,000 เล่ม เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้คนรุ่นหลังรับรู้ความเป็นมาของชาติ ความเสียสละของบูรพมหากษัตริยาธิราช และบรรพบุรุษไทย ที่ได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ เลือดเนื้อ และชีวิตเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยจนสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ตระหนักและมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่ เป็นพลเมืองที่ดี ช่วยกันดูแลรักษาชาติบ้านเมืองให้เกิดความสงบ

นายวีระกล่าวต่อว่า วธ.กำลังเร่งทยอยส่งมอบให้กับห้องสมุดโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้นักเรียนและเยาวชนได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวของประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างถูกต้อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า ได้เร่งรวบรวมเนื้อหาประวัติศาสตร์ชาติไทยมาจัดทำเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยฉบับพกพา เพิ่มเติม ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ ทั้งในรูปแบบภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ที่สำคัญ วธ.จะจัดสัมมนาประวัติศาสตร์ชาติไทยในเดือนพฤศจิกายน ที่โรงละครแห่งชาติ โดยเชิญนักวิชาการ ผู้ทรงวุฒิและผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์มาร่วมถ่ายทอดความรู้ด้วย

กรมวิทย์ฯจัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย เพื่อส่งเสริมการผลิตให้มีคุณภาพ
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มการใช้ยาสมุนไพรในประเทศไทยมีมากขึ้น คิดเป็นมูลค่าการใช้ราวปีละ 14,000 ล้านบาท อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันยาสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น แต่ประชาชนยังขาดความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของยาสมุนไพรที่มีจำหน่ายในท้องตลาด หรือผลิตในโรงพยาบาล

เนื่องจากยาสมุนไพรส่วนใหญ่นำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาผลิต จึงมีโอกาสที่จะมีสิ่งปนเปื้อน เช่น ดินหรือน้ำในแหล่งที่เก็บพืชสมุนไพร อาจมีโลหะหนักที่เป็นพิษปนเปื้อน ได้แก่ สารหนู ตะกั่ว และแคดเมียม หรือการปนเปื้อนสารเคมี ยากำจัดศัตรูพืชจากการเพาะปลูก ตลอดจนการนำสมุนไพรมาทำเป็นรูปแบบยาต่างๆ เช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล หรือยาน้ำ หากไม่มีมาตรฐานในการผลิตอาจได้ยาที่ไม่มีคุณภาพ มีสารปนเปื้อน รวมถึงการควบคุมความชื้นที่ไม่ดี ยาอาจขึ้นราและเกิดสารอะฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งได้

ที่ผ่านมาสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ยามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของยาสมุนไพรไทย จึงได้มีการจัดทำตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย Thai Herbal Pharmacopoeia ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ควบคุมคุณภาพของยาสมุนไพร และเป็นมาตรฐานอ้างอิง เพื่อการส่งออกนำเข้าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งใช้อ้างอิงการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณและยาพัฒนาจากสมุนไพร

ปัจจุบัน ได้จัดทำข้อกำหนดมาตรฐานของวัตถุดิบสมุนไพร จำนวน 46 ชนิด และยาเตรียมจากสมุนไพร จำนวน 3 ตำรับ คือ ยาแคปซูลขมิ้นชัน ยาแคปซูลฟ้าทะลายโจร และยาชงชุมเห็ดเทศ ซึ่งตำราดังกล่าวได้บรรจุอยู่ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุตำรายา พ.ศ. 2556 เพื่อบังคับใช้เป็นตำรายาอ้างอิงของประเทศ และจะดำเนินการจัดทำตำรายามาตรฐานยาสมุนไพรอย่างต่อเนื่อง ให้ครอบคลุมชนิดของยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นตามบัญชียาหลักแห่งชาติ

วธ.ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 5
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในพิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2558 ในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย ว่า ภาพยนตร์นับเป็นศิลปวัฒนธรรมประเภทหนึ่ง และยังเป็นจดหมายเหตุที่บันทึกข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ และใช้เป็นสื่ออ้างอิงทางวิชาการ หรือทางกฎหมาย กระทรวงวัฒนธรรม โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2554 เพื่อให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย โดยคัดเลือกภาพยนตร์ที่สำคัญตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งพิจารณาจากความมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ มีคุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์ มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการสูญเสีย หรือยากแก่การหาทดแทน ตลอดจนมีอิทธิพลต่อผู้คนและสังคม

นายโดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า วันที่ 4 ตุลาคม ถือเป็นวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ จึงได้มีการขึ้นทะเบียนภาพยนตร์เป็นมรดกของชาติ ปีละประมาณ 25 เรื่อง เพื่อเป็นเครื่องประกาศว่าภาพยนตร์นั้นมีคุณค่าและสำคัญของชาติ จะปล่อยให้สูญหายหรือเสื่อมโทรมไม่ได้ และขณะเดียวกันจะต้องส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้ ได้ดู ได้เรียนรู้ ชื่นชม และได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากภาพยนตร์เหล่านั้นด้วย

โดยปีนี้ภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ได้แก่ (1) ภารกิจทหารอาสาสยามในสงครามโลกครั้งที่ 1 พ.ศ.2461 (2)เด็กซนสมัย ร.7 พ.ศ.2470-2475 (3)พันท้ายนรสิงห์ พ.ศ.2493 (4)ทหารไทยไปเกาหลี พ.ศ.2494-2495 (5)มรดกพระจอมเกล้า (HERITAGE FROM KING MONGKUJ) พ.ศ.2497

(6)พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกผนวช พ.ศ.2499 (7)โฆษณาพระเครื่องฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2500 (8)ทะโมนไพร พ.ศ.2502 (9)การปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติในตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลและผู้นำทางทหารจนถึงล้มป่วยและอสัญกรรมของ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2506 (10)ยุทธนา-ศิริพร YUTHANA UND SIRIPON MONCH AUF ZEIT พ.ศ.2506

(11) สายเลือดเดียวกัน (THE SPREAD OF KINSHIP) พ.ศ.2509-2511 (12) ชู้ พ.ศ.2515 (13)วัยตกกระ พ.ศ.2521 (14)เงาะป่า พ.ศ.2523 (15)ประชาชนนอก (ON THE FRINGE OF SOCIETY) พ.ศ.2524 (16)เพื่อน-แพง (PUEN-PAENG) พ.ศ.2526 (17)ด้วยเกล้า พ.ศ.2530 (18)บ้านผีปอบ 2 พ.ศ.2533 (19)เรื่องตลก 69 (6ixtynin9) พ.ศ.2542

(20)บางระจัน (BANG-RAJAN The legend of the Village Warriors) พ.ศ.2543 (21)สุริโยไท (THE LEGEND OF SURIYOTHAI) พ.ศ.2544 (22) 15 ค่ำ เดือน 11 (MEKHONG FULL MOON PARTY) พ.ศ.2545 (23)องค์บาก (ONG-BAK) พ.ศ.2546 (24)ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (SHUTTER) พ.ศ.2547 และ (25) รักแห่งสยาม (THE LOVE OF SIAM) พ.ศ.2550

สธ.เร่งจัดระบบติดตามดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยง
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบติดตามดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยง 2 กลุ่มเป็นกรณีพิเศษ คือ กลุ่มผู้ที่มีประวัติเคยก่อคดี เคยทำร้ายคนอื่น หลงผิด หวาดระแวง และกลุ่มผู้ที่ดื่มสุรา หรือไม่มีญาติดูแล ซึ่งมีความเสี่ยงอาการกำเริบได้ง่าย

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยที่มีอาการ ได้กินยาตามแผนการรักษาในช่วง 2-3 ปีแรก จะได้ผลดีที่สุด มีโอกาสหายขาด แต่หากมีอาการเกิน 5 ปีจะกลายเป็นเรื้อรัง ปัญหาใหญ่คือการรักษาไม่ต่อเนื่อง ผู้ป่วยมักมีปัญหาขาดยา อาการป่วยจะค่อยๆ กลับมา จึงต้องขอความร่วมมือญาติช่วยกันดูแล และสังเกตสัญญาณว่าอาการป่วยจะกลับมาอีก คือ ผู้ป่วยเริ่มไม่กินยา พูดไม่รู้เรื่อง ไม่ดูแลตัวเอง พฤติกรรมแปลกจากเดิม ขอให้รีบแจ้งโรงพยาบาลที่รักษา หรือโทร 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับประชาชนทั่วไป หากพบผู้มีอาการน่าสงสัย ข้อสังเกตเบื้องต้น คือ ถ้าเป็นผู้ป่วยจิตเวช จะมีความคิด พฤติกรรมที่ผิดปกติ ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถสังเกตได้จากลักษณะท่าทาง สีหน้า แววตาที่แตกต่างจากคนทั่วไป หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้หยุดนิ่ง เพื่อไม่ให้เป็นสิ่งเร้า กระตุ้นให้ผู้ป่วยจิตเวชเกิดอาการหรือเกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรง และหาโอกาสหลบเลี่ยงออกมา โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือศูนย์ประชาบดี 1300

วัดอรุณเล็งหุ้มทองคำ-ประดับอัญมณี พระมหามงกุฎยอดปรางค์ประธาน
พระศากยปุติยวงศ์(ต่อศักดิ์ สุนฺทรวาที) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมศิลปากรอยู่ระหว่างการบูรณะพระปรางค์องค์ประธาน ซึ่งทางวัดเห็นว่า พระมหามงกุฎบนยอดพระปรางค์ได้ชำรุดทรุดโทรม ดังนั้น ทางวัดและราชสกุลในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ได้ทำนุบำรุงวัดอรุณฯ จะถือโอกาสบูรณะพระมหามงกุฎ เหนือยอดนพศูลพระปรางค์องค์ประธานด้วย

โดยจะให้ทางกรมศิลปากรดำเนินการหุ้มทองคำแท้ น้ำหนัก 2 กก. พร้อมประดับอัญมณี 1,955 เม็ด ซึ่งจะใช้งบประมาณราว 15 ล้านบาท จากแรงศรัทธาของราชสกุลในรัชกาลที่ 2 รวมทั้งพุทธศาสนิกชนทั่วไป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ

“พระมหามงกุฎของวัดอรุณฯ ถือเป็นแห่งเดียวในโลก ที่ประดิษฐานอยู่เหนือยอดนพศูล ถือว่าเป็นพระปรางสัญลักษณ์สำคัญของประเทศ ทางวัดจะขอพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์กระดิ่ง จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี มาประดิษฐานทั้ง 4 ทิศ ของพระมหามงกุฎ พร้อมจะขอพระบรมราชานุญาต อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อประจำพระองค์ ประดิษฐานบนกระดิ่ง พระราชทานประดิษฐานบนยอดด้วย เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และถวายเป็นพระราชกุศล เสริมสร้างความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง โดยจะเริ่มดำเนินการในปีมหามงคล 2559 คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมสมโภชพระปรางค์ในปี 2560” พระศากยปุติยวงศ์ กล่าว

วธ. เปิดตัวแอป Thai Culture ค้นข้อมูลวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า วธ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดทำแอปพลิเคชัน Thai Culture เพื่อค้นหาข้อมูลทางวัฒนธรรมได้อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานเพื่อการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม หรือใช้งานเพื่อการศึกษาและวิจัย โดยสามารถใช้งานบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบปฏิบัติการ IOS และ Android ซึ่งเป็นระบบที่สามารถนำเสนอข้อมูลที่มีคุณภาพและตรงความต้องการของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้อย่างสะดวก และง่ายต่อการค้นหาความรู้ด้านวัฒนธรรมได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งมีการแสดงผลในรูปแบบแผนที่ในรัศมี 10 กม.จากผู้ใช้งาน

โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวบรรจุข้อมูลเบื้องต้นประมาณ 70,000 ข้อมูล เช่น ศิลปะการแสดง 2,106 ข้อมูล จดหมายเหตุ 10,918 ข้อมูล การประกอบอาชีพ 541 ข้อมูล อาหาร 3,630 ข้อมูล การแต่งกาย 1,318 ข้อมูล ที่อยู่อาศัย 118 ข้อมูล ระบบภูมิสารสนเทศ GIS 9,862 ข้อมูล ประเพณี 3,392 ข้อมูล และศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม 40,000 ข้อมูล และภายในปีงบประมาณ 2559 ตั้งเป้าที่จะเพิ่มเติมข้อมูลให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และขยายการให้บริการเป็นภาษาอังกฤษสำหรับชาวต่างชาติที่มีความสนใจในวัฒนธรรมไทยอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีระบบสืบค้นที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถสืบค้นข้อมูลองค์ความรู้จากทุกหน่วยงานภายในสังกัด วธ. ได้อย่างครบถ้วน พร้อมทั้งยังสามารถเปรียบเทียบข้อมูลทั้งหมดได้ทันที โดย วธ.จะเปิดให้บริการดาวน์โหลด Thai Culture ผ่าน App Store และPlay Store ฟรี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 179 พฤศจิกายน 2558 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น