xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” ดึงทุนใหญ่หนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตั้งเป้าปีนี้ 1,500 ตำบล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
“สมคิด” ดึงกลุ่มทุนใหญ่ ปตท. บิ๊กซี เทสโก้ ซีพีออลล์ เอสซีจี สมาคมเอสเอ็มอี ผนึกพลังรัฐและเอกชน 33 องค์กร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ขับเคลื่อนรูปธรรมความร่วมมือสร้างเศรษฐกิจฐานรากภายใต้ยุทธศาสตร์ประชารัฐ นำร่องเกษตรอินทรีย์ ประมงชายฝั่ง และบ้านมั่นคง เป้าหมายเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย ตั้งเป้าปี 2559 จำนวน 1,500 ตำบล

วันนี้ (13 ม.ค. 59) เวลา 11.00 น. มีพิธีลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สู่เศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน” ระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับเครือข่ายสัมมาชีพ ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน มูลนิธิสัมมาชีพ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวม 32 องค์กร เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ส.ป.ก. ททท. กรมการพัฒนาชุมชน มูลนิธิสัมมาชีพ ปตท. เซ็นทรัล บิ๊กซี เทสโกโลตัส สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ฯลฯ เพื่อร่วมกันสนับสนุนความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก

ในพิธีดังกล่าวนอกจากจะมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เป็นประธานในพิธีแล้ว ยังมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าทีมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากภาครัฐ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และนายฐาปน สิริวัฒนภักดี จากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ในฐานะหัวหน้าทีมฯ ภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามด้วย

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในครั้งนี้ได้มีการจัดตั้ง “คณะดำเนินงานสนับสนุนความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง” โดยมีผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เป็นประธาน มีคณะกรรมการทั้งภาครัฐและเอกชนรวม 28 คน

นายสมคิดกล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การมุ่งเน้นเศรษฐกิจอย่างผิวเผิน เป็นการคืนความสุขให้ประชาชน โดยการวางรากฐานให้แข็งแกร่งให้ลูกหลานมีความยั่งยืนเข้มแข็ง อยากให้เกิดการเติบโตจากภายใน เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนภาคเกษตรกรรมที่มีประมาณ 30 ล้านคน แต่มีสัดส่วนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการยากที่จะเติบโตไปได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน รัฐบาลจึงอยากสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตขึ้นมาภายในปีนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยมีแนวทางขับเคลื่อน 5 ประการ คือ

1. การขับเคลื่อนในแนวดิ่งและแนวนอน โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในชนบท ที่มีประโยชน์ต่อ เกษตรกรอย่างแท้จริง โดยในปีนี้จะมีการลงทุนโครงสร้างต่างๆ ขึ้นมา เช่น โรงสี ลานตาก รวมถึงการใช้เครื่องจักรในการผลิต ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด และให้กองทุนหมู่บ้านเสนอโครงการเพื่อส่วนรวมขึ้น และจะมีการสนับสนุนงบประมาณลงไปในพื้นที่

2. การพัฒนาเศรษฐกิจ มีการยกระดับผลผลิตขึ้นมา โดยการแปรรูปสินค้า เพิ่มมูลค่า เพิ่มราคาเป็นทวีคูณเป็นการสร้าง SME เกษตรกรรมขึ้นมา ถือเป็นการปฏิรูปการเกษตร โดยใช้แนวทาง “1 SME เกษตร 1 ตำบล”

3. มีการตลาดรองรับ โดยให้กระทรวงพาณิชย์สร้างตลาดเกษตรกร เป็นการร่วมกันเชื่อมโยงเกษตรกรในพื้นที่ นำสินค้าในพื้นที่ไปจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด ทั้งในและต่างประเทศ

4. การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ภายในตำบลหรืออำเภอ โดยนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาเจียระไน เป็น “1 อำเภอ 1 แหล่งท่องเที่ยว” สร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ปลอดภัย นำสินค้าเกษตรมาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว โดยปั๊มน้ำมันของ ปตท.จะต้องมีพื้นที่ให้สินค้าเกษตรนำสินค้าผ่านสหกรณ์มาขายได้ และ 5. อินเทอร์เน็ตบอร์ดแบรนด์ นำมาใช้เพื่อการศึกษาและขายสินค้าเกษตรผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการกระจายสินค้า และในปี 2559 นี้จะมีการลงทุนทันที รวมถึงการลงทุนเพื่อเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

“การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ใช่การปั๊ม GDP แต่จะมุ่งเน้นเป็นการสร้างความเข้มแข็งของสังคมให้มีความสุข ความยั่งยืนมากขึ้น โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างแท้จริง จึงเกิดแนวทาง “ประชารัฐ” ขึ้นมา และไม่ต้องกลัวว่าการดึงบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมจะเป็นการนำปลาใหญ่มาฮุบปลาเล็ก แต่จะเป็นการดึงคนรวยมาช่วยคนจนมากกว่า” นายสมคิดกล่าวย้ำ

นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการ พอช. ในฐานะประธานคณะดำเนินงานสนับสนุนความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง กล่าวว่า ที่ผ่านมา พอช.ได้ทำงานพัฒนาชุมชนครอบคลุม 6,447 ตำบลทั่วประเทศ ซึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากร่วมกับองค์กรภาคีทั้ง 33 องค์กรในครั้งนี้จะใช้พื้นที่ที่ พอช.ดำเนินการอยู่แล้ว โดยในปี 2559 มีเป้าหมายจำนวน 1,500 ตำบล และเพิ่มเป็น 2,500 ตำบลในปี 2560 โดย พอช.จะมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน การสร้างพื้นที่รูปธรรมระดับตำบลและคลัสเตอร์ (Cluster) ทั้งนี้ในเบื้องต้นจะนำร่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้พื้นที่การผลิตหรือคลัสเตอร์เป็นกลไกในการขับเคลื่อน โดยเริ่มจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ประมงชายฝั่ง และบ้านมั่นคง หลังจากนั้นจะขยายผลสู่คลัสเตอร์อื่นๆ ต่อไป

“การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดหลายด้าน ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเชื่อมโยงผลผลิตไปสู่ผู้บริโภคได้ ในขณะที่ผู้บริโภคในเมืองทั่วประเทศต้องการผลผลิตที่ปลอดภัยแต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงผลผลิตได้ เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องการจัดการผลผลิตทำให้อาหารเกษตรอินทรีย์มีราคาสูง ทั้งนี้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้ง 30 องค์กร จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เป็นจริง โดยจะต้องมีการสนับสนุนเกษตรกรตั้งแต่การวางแผนและจัดการผลผลิต การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลผลิต การจัดการผลผลิตและการจัดการการตลาด” ประธานคณะทำงานฯ กล่าว

นายพลากรกล่าวด้วยว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากนอกจาก 3 คลัสเตอร์ดังกล่าวแล้ว ยังมีคลัสเตอร์อื่นๆ เช่น การแปรรูปยางพารา ปาล์มน้ำมัน การท่องเที่ยวชุมชน ประมงน้ำจืด ร้านค้าชุมชน ฯลฯ ที่สามารถขับเคลื่อนได้ทันทีโดยใช้กลไกของสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนก็ได้ ทั้งนี้ พอช.ได้จัดทำแผนงานและงบประมาณเสนอต่อสำนักงบประมาณในช่วง 1 ตุลาคม 2559-30 กันยายน 2560 จำนวน 550 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน สร้างโอกาส สร้างอาชีพ และรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มีความมั่นคงตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง

นายณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของกลุ่มเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนต่างๆ ทั้งในด้านการให้คำแนะนำ การเป็นที่ปรึกษา หรือการเป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้กลุ่มและเครือข่ายต่างๆ เติบโตและเข็มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต การตลาด หรือการส่งออก เพื่อให้เกิดการต่อยอดและให้เกิดความยั่งยืนของเศรษฐกิจชุมชน ให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน สิ่งไหนที่ชุมชนขาดสมาพันธ์ฯ ก็จะไปช่วยเสริมสร้างความเข็มแข็ง หรือสิ่งไหนที่ดีอยู่แล้วสมาพันธ์ฯ ก็จะไปช่วยสนับสนุนต่อยอด

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มีสมาชิกซึ่งประกอบด้วยกลุ่ม SME ตามภูมิภาคต่างๆ สมาคมการค้าต่างๆ ผู้ประกอบการทั่วไป รวมทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ ฯลฯ จำนวนสมาชิกเริ่มก่อตั้ง 52 กลุ่ม เช่น สมาคมการค้าไทยเอสเอ็มอี, สมาคมแฟรนไชส์ และไลเซนส์, กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป, สมาคมเครื่องหนังไทย, สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ฯลฯ มีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางระหว่างสมาชิกสมาคมกับหน่วยงานรัฐและสถาบันการเงิน เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของสมาชิกให้เข้มแข็ง สามารถแข่งขันทางธุรกิจได้

นอกจากพิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าวแล้ว ในงานดังกล่าวยังมีการประชุมแลกเปลี่ยนเรื่อง “การเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานราก สู่การขับเคลื่อนการทำงานเชิงคลัสเตอร์” โดยแยกประชุมกลุ่มย่อย เช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์ ประมงชายฝั่ง ท่องเที่ยวชุมชน องค์กรการเงิน ก่อสร้างชุมชน สหกรณ์ร้านค้าและตลาดท้องถิ่น ฯลฯ โดยมีเครือข่ายชาวบ้านจากทั่วประเทศประมาณ 700 คนเข้าร่วมการประชุมอย่างคึกคัก

สำหรับภาคีความร่วมมือ 32 องค์กรดังกล่าว ประกอบด้วย 1. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) 2. เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 3. มูลนิธิสัมมาชีพ 4.สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย 5. กรมการพัฒนาชุมชน 6. สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 7. กรมการค้าภายใน 8. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 9. ธนาคารออมสิน 10. สำนักงานการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ

11. สภาเกษตรกรแห่งชาติ 12.บริษัท ซีพีออล์ จำกัด(มหาชน) 13. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 14. สโมสรโรตารีสัมพันธวงศ์ 15. เครือข่ายไทยพีจีเอสออร์แกนิคพลัส 16. สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 17. บริษัท เอสซีอีอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 18. องค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) 19. เครือข่ายธุรกิจ Biz Club Thailand 20. สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย 21. บริษัท ปตท. 22. เซ็นทรัล 23. บิ๊กซี 24. เทสโกโลตัส 25. เดอะมอลล์ 26.ท็อปส์ 27. สยามแม็คโคร 28. เอกชัยดิสทริบิว 29. กลุ่มมิตรผล 30.สหลอว์สัน 31.ทีซีซีโลจิสติกส์ แอนด์ แวร์เฮ้าส์




กำลังโหลดความคิดเห็น