ป้อมพระสุเมรุ
โละกันเนียนๆ ดีๆ นี่เอง! สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา
หลายฝ่ายจับตาไปที่วาระใหญ่ๆ และประเด็นร้อนๆ ที่เป็นกระแสเท่านั้น จนไม่ได้สังเกตปฏิบัติการเขี่ยทิ้งประชานิยมแบบ “บิ๊กตู่สไตล์” หลังที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างครม.มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ฉบับที่... พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
เรื่องนี้มีที่มาจาก “บิ๊กตู่” ในฐานะผู้รักษาการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ.2555 เอง ที่มีบัญชาให้สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) นำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญคือ โอนภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ (สกพส.) จาก “สลน.” ไปยังกรมการพัฒนาชุมชน สังกัดกระทรวงมหาดไทย เข้าสู่การพิจารณาของครม.
เนื้อหาโดยสรุปของร่างดังกล่าวกำหนดให้ต่อไปนี้ “สกพส.” จะเป็นหน่วยงานภายในกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ (คกส.) โดยการบริหารราชการและการบังคับบัญชาของ “สกพส.” จะเป็นไปตามที่ “คกส.” กำหนด
นอกจากนี้ ยังให้ “สลน.” โอนกิจการต่างๆ ของ “สกพส.” ที่ตัวเองเคยดำเนินการก่อนหน้านี้ให้แก่กรมการพัฒนาชุมชนทั้งหมด หรือหากมีความผูกพันใดๆ กับบุคคลภายนอกก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ก็ให้โอนไปให้กรมการพัฒนาชุมชนเช่นเดียวกัน
สรุปคือ เอา “สกพส.” ที่เคยอยู่ใน “สลน.” ไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาชุมชนทุกอย่าง
แม้ “เสธ.ไก่อู” พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะออกมาชี้แจงว่า ร่างระเบียบดังกล่าวเป็นการโยกกองทุนให้ไปอยู่ในที่ๆ ควรอยู่อย่างกรมพัฒนาชุมชนที่มีภารกิจและบทบาทตรงกับการทำงานของกองทุนสตรีฯเท่านั้น ไม่ใช่การยุบทิ้ง
แต่ในทางปฏิบัตินี่คือ ปฏิบัติการโละมรดกบาปจาก “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” โดยยุทธวิธีที่แนบเนียน และแยบยล ไม่ใช่วิธีหักด้ามพร้าด้วยเข่าเสียทีเดียว
อย่างที่รู้กันว่า “บิ๊กตู่” ด้อมๆ มองๆ โครงการประชานิยมทั้งหลายของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” มาตั้งแต่หลังการเข้ายึดอำนาจใหม่ๆ โดยในเดือนกรกฎาคม 2557 เคยสั่งการให้มีการทบทวนกองทุนต่างๆ ในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว 6 กองทุนว่า คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่ กระทั่งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา มีการแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนอีกครั้ง โดยเฉพาะการพุ่งเป้าที่ไปกองทุนสตรีฯ
“กองทุนไหนที่ไม่เกิดประโยชน์สูงสุด สิ้นเปลืองงบประมาณ ผลสัมฤทธิ์ไม่ได้เท่ากับงบที่จ่ายไปจะต้องปรับปรุงแก้ไข บางองค์กรต้องยกเลิก ปรับเปลี่ยนความรับผิดชอบใหม่ อย่างเช่นกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี”
ช่วงเวลาก่อนที่ครม.จะมีมติครั้งนี้ “บิ๊กตู่” ได้สั่งให้ทีมงานไปยกร่างระเบียบใหม่ โดยต้องการโอนย้ายกองทุนฯและภารกิจของกองทุนให้ไปอยู่ที่กรมพัฒนาชุมชนแทนสลน. และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปตรวจพิจารณาข้อกฎหมายให้ละเอียดรอบคอบ ก่อนจะนำเข้าที่ประชุมครม.ในเวลาอันรวดเร็ว
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องขวางหูขวางตา “บิ๊กตู่” อย่างเดียว แต่เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมบารมีของ “ยิ่งลักษณ์” ในฐานะผู้นำหญิงเท่านั้น
โดยมีภารกิจบังหน้าคือ 1.เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย ในการสร้างโอกาสให้สตรีเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับการลงทุน เพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ หรือสำหรับการส่งเสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิภาพ หรือสวัสดิการให้แก่สตรี
2.เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาศักยภาพสตรีและเครือข่ายสตรี การเฝ้าระวังและดูแลปัญหาของสตรี ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยาสตรีที่ประสบปัญหาในทุกรูปแบบ การรณรงค์ให้สังคมเข้าใจปัญหาสตรีในทุกมิติ และการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี
3.เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการส่งเสริม สนับสนุนการจัดกิจกรรมในการพัฒนาบทบาทสตรีและแก้ไขปัญหาสตรีขององค์กรต่างๆ การสร้างภาวะผู้นำ การพัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิต รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของสตรี
และ4.เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการสนับสนุนโครงการอื่นๆ ที่เป็นการแก้ไขปัญหาและ พัฒนาสตรี ตามที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติพิจารณาเห็นสมควร
แต่โดยเนื้อแท้เป็นประชานิยมทั้งแผ่น เป็นการหว่านเม็ดเงินลงไปโดยไม่มีกลไกป้องกันการรั่วไหลของเงินหรือกลไกป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นเท่าที่ควร เหมือนกับหลายนโยบายในสมัยรัฐบาลไทยรักไทยของ “ทักษิณ ชินวัตร” พิมพ์เดียวกับกองทุนหมู่บ้าน
กองทุนโคตรประชานิยมถูกคิกออฟ โดยมติครม. ที่มี “ยิ่งลักษณ์” นั่งเป็นประธาน เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนในปีงบประมาณ 2555
โครงสร้างของคณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาสตรีแห่งชาติ หรือ “คกส.” มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรี โดยทำหน้าที่ดูแลขุมทรัพย์กว่า 7,700 ล้านบาท ที่ต้องอัดฉีดให้จังหวัดละ 100 ล้านบาท เพื่อใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาสตรีในหมู่บ้าน
แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่คุ้มค่ากับงบประมาณมหาศาลที่เทลงไป ตลอดจนการบริหารที่หละหลวม โครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ของกองทุนฯ ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมมากนัก
เมื่อเป็นนโยบายประชานิยม โดยมีวัตถุประสงค์คือ ผลาญเงินเพื่อรักษาหรือสร้างฐานเสียง มันจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะอยู่เป็นหนามตำใจของ “บิ๊กตู่” ต่อไป เพียงแต่การใช้วิธี “ยุบทิ้ง” ไม่ต้องมีกองทุนฯนี้เลยในพริบตา อาจทำให้สังคมมองว่า รัฐบาลจงเกลียดจงชังจนอคติบังตา ขว้างปาของทุกอย่างที่มาหรือค้างมาจากยุค “ยิ่งลักษณ์” ทั้งหมดได้
เพราะต้องยอมรับว่า กองทุนฯบางอย่างก็มีประโยชน์หากมันอยู่ในมือของคนที่ควรอยู่ อย่างกองทุนฯหมู่บ้านที่ “บิ๊กตู่” ก็ยอมกลืนน้ำลายลอกโมเดลยุค “ทักษิณ” มาทำในปัจจุบัน รีแบนด์ รีโนเวทกันใหม่ ที่ภูมิใจนำเสนอโดย “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ในฐานะอดีต “เศรษฐกร” ยุคไทยรักไทย ดังนั้น การโละทิ้งอะไรต้องดูทิศทางลมจากคนในสังคมด้วย
ยิ่งเรื่องสตรีที่ “ยิ่งลักษณ์” ชูโรงมาตลอดพังครืนต่อหน้าต่อตาแบบหักดิบ อาจกลายเป็นเหยื่ออันโอชะให้ฝ่ายต่อต้านนำไปขยายปมสร้างวาทกรรม “บิ๊กตู่” กีดกัน “เพศแม่” เพื่อเขย่ารัฐบาลนายพล มากกว่าจะมองเหตุผลของรัฐบาลในเรื่องการสิ้นเปลืองงบประมาณ
การโอนไปสังกัดกรมพัฒนาชุมชนเสีย จึงเป็นการค่อยๆ ลดบทบาทกองทุนฯดังกล่าวแบบชัดเจน จากเดิมงบประมาณได้รับการจัดสรรเต็มเม็ดเต็ม เพราะสังกัดสำนักนายกฯ แต่พลันที่ไปอยู่ในกรมพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับ “กรม” ในกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น การจัดสรรงบประมาณจะเหลือเพียงน้อยนิดเท่านั้น
กล่าวคือ นอกจากต้องรอการจัดสรรจากกระทรวงมหาดไทยที่มีหลายกรมอยู่แล้ว ยังต้องรอทางกรมพัฒนาชุมชนเกลี่ยหรือเจียดมาให้อีกที สุดท้ายจะกลายเป็นกองทุนฯที่จืดชืด ต่อไปคนจะค่อยๆ ลืมชื่อไปตามกาลเวลา ดังนั้น ไม่ยุบก็เหมือนยุบ
เป็นการอวสาน “กองทุนเลดี้” พร้อมๆ กับการอวสานของ “เลดี้ปู” ในเวทีการเมืองไทย.