คณะกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระ ของบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พิจารณา กรณีนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ นายพิทยา เจียรวิสิฐกุล และนายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัท ซีพี ออลล์ ถูกสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เปรียบเทียบปรับ ข้อหาใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหุ้น
ที่ประชุมรับทราบว่านายก่อศักดิ์ นายพิทยา และนายปิยะวัฒน์ ได้ยอมรับในคำตัดสินของสำนักงาน ก.ล.ต.โดยได้รับการเปรียบเทียบปรับแล้ว และได้พิจารณาข้อเท็จจริงต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน โดยคำนึงถึงการลงโทษของสำนักงาน ก.ล.ต.ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ตลอดจนพฤติกรรมและผลงานในอดีต รวมทั้งคุณสมบัติและประสบการณ์อันโดดเด่นของบุคคลเหล่านี้ ซึ่งหาทดแทนได้ยาก โดยเปรียบเทียบกับผลกระทบและประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับ และเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก คณะกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระจึงลงความเห็นว่า ยังสมควรที่จะให้บุคคลเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
กรรมการตรวจสอบ นอกจากมีหน้าที่ สอบทาน งบการเงิน รายงานข้อมูล ให้ถูกต้องแล้ว ยังมีหน้าที่ รับผิดชอบ สอบทานให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
หลักการ แนวความคิด ของการตั้งกรรมการตรวจสอบ ในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือ เพื่อให้บริษัทมีธรรมาภิบาล หรือ การกำกับกิจการที่ดี การที่ กรรมการตรวจสอบ ต้องเป็นกรรมการอิสระ เท่านั้น คือ ไม่ใช่ผู้บริหาร ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น ก็เพื่อให้ กรรมการมีอิสระในการ ทำหน้าที่ ตรวจสอบ สอบทาน ผู้บริหาร
ความเห็นของ คณะกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระ บมจ. ซีพีออลล์ จึงควรจะจำกัดเพียงแค่ว่า เมื่อกรรมการและผู้บริหารของซีพีออลล์ ทำผิดมาตรา 241 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2535 ยังจะมีคุณสมบัติของการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัท ตามกฎของ ก.ล.ต. และตามนโยบายเรื่องกรรมการและผู้บริหารของ ซีพีออลล์เองหรือไม่
การพิจารณาว่า บุคคลที่ทำผิดกฎหมายเหล่านั้น มีผลงานที่ดี มีความเก่งกล้าสามารถ ไม่อาจหาใครมาทดแทนได้ จึงสมควรให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ควรจะเป็นความเห็นของฝ่ายผู้ถือหุ้น และผู้บริหาร ซึ่งมีส่วนได้เสียโดยตรงกับ การบริหารงาน มากกว่า
มติของคณะกรรมการตรวจสอบซีพีออลล์ เป็นการเห็นแก่ประโยชน์ในทางธุรกิจองบริษัทซีพีออลล์ มากกว่า หลักการกำกับกิจการที่ดี ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เป็นการส่งสารต่อสังคมว่า คนทำผิด หรือ ทุจริต อาจได้รับการให้อภัย เพราะเป็นคนเก่ง มีความสามารถ ผิดหรือโกงไม่เป็นไร ถ้าเป็นคนเก่ง
คณะกรรมการตรวจสอบ 3 คน ของ ซีพีออลล์ ประกอบด้วย นายโกเมน ภัทรภิรมย์ อดีตอัยการสูงสุด ตุลาการรัฐธรรมนูญ และ กรรมการร่างฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบ นายปรีดี บุญยัง อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง กรมศุลกากร และกรมธนารักษ์ นายผดุง เตชะศรินทร์ อดีตกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย
กรรมการอิสระอีก 2 คนคือ นายศุภชัย พิศิษฐวานิช อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และพลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
รายงานประจำปีของ บมจ.ซีพีออลล์ ประจำปี 2557 เรื่องค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินของ คณะกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระ เปิดเผยข้อมูลว่า ในปี 2557 นายโกเมน ได้รับค่าตอบแทน 1,200,000 บาท ได้ โบนัส 4,465,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ห้าล้านแปดแสนบาท
นายปรีดี และนายผดุง ได้รับ ค่าตอบแทนคนละ 1,080,000 บาท โบนัสคนละ 4,020,000 บาท รวมห้าล้านหนึ่งแสนบาท
นายศุภชัย ซึ่งเป็น กรรมการอิสระเพียงตำแหน่งเดียว ไม่ได้เป็นกรรมการตรวจสอบด้วย ได้ค่าตอบแทน 720,000 บาท โบนัส 2,680,000 บาท รวมสามล้านสี่แสนบาท
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ กรรมการอิสระ ได้รับ ค่าตอบแทน 720,000 บาท โบนัส 2,457,000 บาท รวม สามล้านหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นบาท
ยกเว้นพลตำรวจเอกพัชรวาท ซึ่งเพิ่งเป็นกรรมการอิสระ เมื่อต้นปี 2556 กรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระคนอื่นๆ ล้วนอยู่ในตำแหน่งคนละหลาย ๆ ปี
นายศุภชัย เป็นกรรมการอิสระ ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน รวม 6 ปี นายโกเมน เป็นกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระตั้งแต่ปี 2548 นายปรีดี และนายผดุง เป็นกรรมการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2542 รวมแล้วนานถึง 16 ปี