xs
xsm
sm
md
lg

สองมาตรฐาน ธรรมาภิบาลตลาดทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หนึ่งสัปดาห์หลังจาก สำนักงาน ก.ล.ต. เผยแพร่ข่าว ลงโทษปรับ ผู้บริหาร บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) 3 คน และ กรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น 1 คน รวมทั้ง ผู้มีส่วนช่วยเหลืออีก 2 คน ในข้อหาใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น บริษัทสยามแม็คโคร

นายอธึก อัศวานนท์ รองประธานกรรมการ และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย บมจ. ทรู คอร์ปอร์เรชั่น ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ผู้บริหารที่ถูก ก.ล.ต. ปรับ เป็นเงิน 1.4 ล้านบาท ก็ลาออกจากการเป็นกรรมการของ ธนาคารกรุงไทย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม แม้จะไม่ระบุเหตุผลการลาออก แต่อนุมานได้ว่า น่าจะเป็นผลจาก ความผิด ในข้อหาอินไซเดอร์ เทรดดิ้ง หุ้น แม็คโคร

อย่างไรก็ตาม นายอธึก ไม่ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการ และรองประธานกรรมการ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็น บริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์เช่นเดียวกับธนาคารกรุงไทย อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เช่นเดียวกัน

ต่างกันตรงที่ธนาคารกรุงไทย เป็นสถาบันการเงินของรัฐ ที่อยู่ในการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ในขณะที่ บมจ. ทรู เป็นธุรกิจในเครือซีพี

ธนาคารกรุงไทย และเครือซีพี อาจจะมีมาตรฐาน และความเข้มงวด เรื่อง การกำกับกิจการที่ดี หรือ Good Governance ต่างกัน

และการที่กรรมการและผู้บริหารระดับสูงซีพีอออล์ อีก 3 คน คือ นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กรรมการผู้จัดการ และนายพิทยา เจียรวิสิฐกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยังอยู่ในตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารซีพีออลล์ รวมทั้ง กรรมการบริษัทสยาม แม็คโคร ต่อไป ก็คงเป็นไปตามมาตรฐานการกำกับกิจการที่ดีของเครือซีพี

นายก่อศักดิ์นั้น บอกว่า ไม่ลาออก และได้คุยกับคณะกรรมการของบริษัทแล้ว ก็ไม่ได้บอกว่า ให้ลาออกแต่อย่างใด

พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 กำหนดคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหารบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เสนอขายให้ประชาชนทั่วไป หรือบริษัทจดทะเบียน ไว้ใน มาตรา 89/3 และมาตรา 89/6 ว่า กรรมการ / ผู้บริหาร ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชน จำกัด รวมทั้งต้องไม่มีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจ ให้บริหารจัดการกิจการ ที่มีมหาชนถือหุ้น ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

มาตรา 89/4 กำหนดว่า นอกจากการพ้นตำแหน่งของกรรมการ ด้วยเหตุตามที่กำหนด ในกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว กรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่ง เมื่อมีลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสม ที่จะได้รับความไว้วางใจ ให้บริหารจัดการกิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้น ตามที่กำหนดในมาตรา 89/3 และจะดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัต่อไปมิได้

มาตรา 89/ 6 วรรค 2 กำหนดว่า ผู้บริหารคนใดขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามวรรค 1 ให้ผู้บริหารคนนั้นพ้นจากตำแหน่ง และจะดำรงตำแหน่งผู้บริหารในบริษัทต่อไปมิได้

ตามประกาศ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 8/2553 เรื่อง การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของ กรรมการและผู้บริหารของบริษัท ได้แบ่งพฤติกรรมที่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจออกเป็น 3 กลุ่ม

พฤติกรรมที่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ กลุ่มที่ 3 พฤติกรรมหนึ่งคือ

(3) มีพฤติกรรมที่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือการเอาเปรียบผู้ลงทุน ในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุน การกระทำดังกล่าว

พฤติกรรมข้างต้นนี้ก็คือ อินไซเดอร์ เทรดดิ้งนั่นเอง ซึ่ง มาตรา 241 ของ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่า เป็น การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก

เพียงข้อกฎหมายเหล่านี้ นายก่อศักดิ์ และกรรมการ / ผู้บริหารซีพีออลล์อีก 2 คน ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที โดยไม่ต้องลาอออก หรือไปถามคณะกรรมการบริษัทเลย เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัด และคงจะมีข้อสงสัยว่า นิติกรรมที่ทั้ง 3 คน ทำไปในนามซีพีอออล์ หลังจากที่ โดน ก.ล.ต. เปรียบเทียบปรับ มีผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ข้อกฎหมายเหล่านี้ ยังไม่ใช่ที่สุด เพราะประกาศ ก.ล.ต. ฉบับเดียวกันนี้ ให้ สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถใช้ดุลพินิจได้ว่า พฤติกรรมในกลุ่มที่ 3 ซึ่งรวมทั้งอินไซเดอร์เทรดดิ้งนั้น เป็นพฤติกรรมที่ขาดความน่าไว้วางใจ ที่ทำให้ผู้กระทำต้องขาดจากความเป็นกรรมการ หรือผู้บริหาร หรือไม่ โดยพิจารณาจากปัจจัย เช่น เป็นพฤติกรรมที่ร้ายแรงหรือไม่ เกิดมานานเกิน 10 ปีไหม ได้รับโทษไปแล้วหรือยัง ผลเสียหายที่เกิดขึ้นมากไหม ฯลฯ โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่งตั้ง กรรมการไม่เกิน 5 คน ที่ไม่ได้เป็นเลขา ก.ล.ต. และพนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้พิจารณา

ดังนั้น หน้าที่ของ ก.ล.ต. จึงไม่ใช่จบแค่ ปรับนายก่อศักดิ์ กับพวก แต่ยังมีหน้าที่สร้างบรรทัดฐานที่ชัดเจนว่า พฤติกรรมอินไซเดอร์ เทรดดิ้ง ของกรรมการ /ผู้บริหาร บริษัทจดทะเบียน ทำให้ต้องพ้นจากการเป็นกรรมการ / ผู้บริหาร บริษัทจดทะเบียนหรือไม่ โดยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาพฤติกรรมของนายก่อศักดิ์กับพวกว่า เข้าข่ายลักษณะที่ไม่น่าไว้วางใจให้บริหารกิจการที่มหาชนถือหุ้นหรือไม่ ไม่ใช่ให้บอร์ดซีพีออลล์ตัดสินใจเองว่า จะให้นายก่อศักดิ์ กับพวกลาออกหรือไม่



กำลังโหลดความคิดเห็น