xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ยังไม่เคาะงบเพิ่มเติมใช้ยางพาราทำถนน สั่ง “คมนาคม” ทบทวนงานปี 60-61 คาดใช้กว่า 3 หมื่นตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.ให้ “คมนาคม” ทบทวนความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มเติม และเสนอใหม่ใน 1 สัปดาห์ ขณะที่เห็นชอบแผนงานปี 59 บูรณะถนนโดยใช้ปริมาณยางพาราทั้งสิ้นกว่า 2 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่างานทั้งสิ้น 10,223 ล้านบาท “อาคม” เผยดึงงานปี 60-61 มาดำเนินงาน คาดใช้ยางพาราเพิ่มอีกกว่า 3 หมื่นตัน ยันส่วนผสมพาราแอสฟัลติกใช้เนื้อยางดิบ 12.5% แต่ต้องสกัดตามขั้นตอนให้เหลือ 5%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 ม.ค. ได้พิจารณาเรื่องความต้องการใช้ยางพาราในโครงการของกระทรวงคมนาคมตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ให้ 8 กระทรวงพิจารณาเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้รวบรวมข้อมูลเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการ ครม. ซึ่ง ครม.ได้รับทราบปริมาณความต้องการการใช้ยางพาราและวงเงินงบประมาณของแต่ละกระทรวง โดยให้แต่ละกระทรวงกลับมาพิจารณาทบทวนเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราในวัสดุ ครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยคำนึงถึงคุณลักษณะเฉพาะที่มีความเหมาะสมทางด้านเทคนิค และจัดส่งต่อสำนักงบประมาณเพื่อรวบรวมนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 1 สัปดาห์ พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายสำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมในการจัดทำราคามาตรฐานวัสดุ ครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างที่มียางพาราเป็นส่วนผสม ในราคาที่รัฐบาลจะรับซื้อตามคุณภาพของยางพารา และให้จัดหางบประมาณเพิ่มเติมให้ส่วนราชการเพื่อชดเชยส่วนต่างราคาในการรับซื้อยางพารา

ในส่วนของกระทรวงคมนาคม จะทบทวนเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพารา ซึ่งมี 2 หน่วยงานหลักที่มีความต้องการใช้ยางพารา คือ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ซึ่งในปี 2559 จะใช้ยางพาราในส่วนของงบประมาณจำนวน 19,301 ล้านตัน และเพิ่มเติมจากงบเหลือจ่ายปี 2559 อีกจำนวน 1,386 ตัน รวมเป็นปริมาณยางทั้งสิ้น 20,687 ตัน คิดเป็นมูลค่างานทั้งสิ้น 10,223 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงานในส่วนของกรมทางหลวง งบปี 59 ต้องการใช้ยางพารา 9,753 ตัน รวมกับงบเหลือจ่ายอีก 560 ตัน ส่วนกรมทางหลวงชนบท งบปี 59 ต้องการใช้ยางพารา 9,548 ตัน รวมกับงบเหลือจ่ายอีก 826 ตัน โดยจะสามารถทำชั้นผิวทางได้รวมทั้งสิ้น 37.1 ล้าน ตร.ม.

ส่วนที่ได้เสนอเพิ่มเติมเป็นแผนงานในปี 2560-2561 ครม.ให้กลับมาทบทวนตัวเลขอีกครั้ง เนื่องจากจะเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณที่ ครม.จะต้องพิจารณาจัดสรรให้ เช่น อาจจะได้ระยะทางที่เพิ่มขึ้น ที่ทำแผนไว้ คาดว่าจะใช้ปริมาณยางเพิ่มอีกกว่า 30,000 ตัน แต่ต้องทบทวนตัวเลขใหม่เสนอในสัปดาห์หน้า ส่วนปริมาณยางพาราในช่วง 3 เดือนข้างหน้ายางพาราจะออกสู่ตลาด

“กระทรวงคมนาคมจะใช้ปริมาณยางพารามากที่สุดจากทั้งหมด 8 กระทรวง เนื่องจากจะเร่งนำโครงการที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2560-2561 โดยเฉพาะถนนที่ชำรุดทรุดโทรมและถนนที่ขนาดเล็กๆ เข้าสู่หมู่บ้านที่ชำรุดมาดำเนินการก่อน ซึ่งจะทบทวนใน 1 สัปดาห์ ส่วนจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราได้อีกเท่าไร ขึ้นกับจำนวนเงินที่จะเพิ่มเติม ซึ่งทั้งกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทต้องหารือกับสำนักงบประมาณด้วย” นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ นโยบายของนายกรัฐมนตรีในการปรับปรุงบูรณะถนนโดยใช้พาราแอสฟัลติก ในส่วนของกรมทางหลวงจะเน้นถนนสายหลักที่เป็นหลุมเป็นบ่อ จัดลำดับและพิจารณาให้ครอบคลุม ส่วนถนนของทางหลวงชนบท ปัจจุบันมีความเสียหายมาก เนื่องจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้เป็นทางผ่านเพื่อเลี่ยงด่านชั่งน้ำหนักบนทางสายหลัก

นายอาคมกล่าวว่า ปริมาณน้ำยางพาราที่จะใช้จำนวน 20,687 ตันนั้นเป็นปริมาณน้ำยางดิบ ซึ่งจะมีกระบวนการในการนำยางมาผสมกับแอสฟัลติก โดยมีผู้ผลิตยางมะตอยนำยางข้นนี้ไปผสม โดยน้ำยางดิบต้นทางจากเกษตรกรจะถูกแปรรูปเพื่อขายต่อให้โรงงานผลิตยางมะตอยอีกทอดหนึ่ง ซึ่งการผสมนั้นจะมีสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อรักษาความหนืดของยางและอายุการใช้งานที่มากขึ้น คือที่สัดส่วน 5% ส่วนจะใช้ได้เพิ่มอีกหรือไม่อยู่ระหว่างการวิจัย

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับพาราแอสฟัลติกซึ่งใช้ก่อสร้างชั้นผิวทางนั้นจะใช้ยางพาราในสัดส่วนเนื้อยางที่ 5% ซึ่งจะสกัดมาจากน้ำยางเข้มข้น 8.3% ซึ่งแปลงมาจากน้ำยางต้นทางจากเกษตรกรที่ 12.5% โดยต้นทุนของพาราแอสฟัลติกสูงกว่าแอสฟัลติกประมาณ 2 เท่า และการใช้ยางพารามาเป็นส่วนผสมพาราแอสฟัลติกเพื่อก่อสร้างเป็นชั้นผิวทางจะใช้ปริมาณยางพารา 1 กม./1 ตร.ม. ซึ่งต้นทุนจะขึ้นกับราคายางพาราด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมได้เสนอแผนใช้ยางพาราสำหรับการซ่อมบำรุงของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเพิ่มเติมอีกประมาณ 37,000 ตัน โดยจะใช้ในโครงการที่อยู่ในแผนงานปี 2560-2561 ที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันที โดยจะต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มอีกประมาณ 26,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น