ลีซ อิท ปิดงบปี 59 กำไรสุทธิ 100.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 42.88% เทียบกับปี 58 อานิสงส์รัฐเดินหน้าขยายการลงทุน ลูกค้าแห่ซบ ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างลงตัว ด้านผู้บริหาร “สมพล เอกธีรจิตต์” เปิดแผนปี 60 เตรียมก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเอสเอ็มอีครบวงจร ตั้งเป้ารายได้-พอร์ตสินเชื่อ-กำไร โตเกิน 30% เอ็นพีแอลไม่เกิน 3%
นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) (LIT) ปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2559 มีรายได้รวม 287.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96.28 ล้านบาท หรือ 50.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 190.91 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 100.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.21 ล้านบาท หรือ 42.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 70.45 ล้านบาท โดยพอร์ตสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1,846 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2558 อยู่ที่ 1,031 ล้านบาท โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการที่รัฐบาลเดินหน้าขยายการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโปรเจกต์ต่างๆ ของหน่วยงานราชการ ซึ่งส่งผลดีกับธุรกิจของบริษัทฯ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่รับงานจากภาครัฐ ทำให้ดีมานด์สินเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อเนื่องถึงปี 2560
นายสมพล กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในปี 2560 ว่า บริษัทฯ วางเป้าหมายก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ให้สินเชื่อครบวงจรสำหรับผู้ประกอบการ SMEs โดยมุ่งเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นคู่ค้ากับหน่วยงานราชการ และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่เป็นหลัก เพื่อให้บริการสินเชื่อตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการทางธุรกิจของลูกค้า เช่น สินเชื่อเพื่อค้ำประกันซองประมูล อีกทั้งในปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ให้บริการจัดหาหนังสือค้ำประกันซองแบบอิเล็กทรอนิคส์ (E-Bidding) เพื่อขานรับนโยบายภาครัฐในการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการประมูลงานเพื่อการจัดซื้อจัดจ้าง (Electronics Government Procurement) สินเชื่อเพื่อเปิด L/C สำหรับลูกค้าที่ต้องการสั่งซื้อเครื่องจักร หรือวัตถุดิบจากต่างประเทศ และบริการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนเงินทุน และจัดหาสินค้า (Project Backup Finance/Trade Finance) ให้ลูกค้าในการทำโครงการต่างๆ ตลอดจนบริการรับซื้อหนี้การค้า (Factoring) เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้ลูกค้าเมื่อโครงการเสร็จสิ้น
“ภายหลังจากที่ LIT เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ กำหนดเป้าหมายการเติบโตไม่น้อยกว่า 30% ใน 3 แง่มุม ทั้งในส่วนของยอดสินเชื่อคงค้าง (Portfolio) รายได้ และกำไรสุทธิ ซึ่งบริษัทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ด้วยการเติบโตมากกว่า 30% มาตลอด สำหรับปี 2560 เป็นปีที่ก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่ของบริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตในแง่ของรายได้ไม่ต่ำกว่า 30% เมื่อเทียบกับปี 2559 ซึ่งทางทีมผู้บริหาร และพนักงานเชื่อมั่นว่า จะสามารถส่งผ่านผลการดำเนินงานในปี 2560 ได้เหมือนปีที่ผ่านมา” นายสมพล กล่าว
นายสมพล กล่าวว่า บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตในแง่ของรายได้ในปี 2560 ไม่ต่ำกว่า 30% เมื่อเทียบกับปี 2559 และกำหนดเป้าหมายในการขยายพอร์ตลูกหนี้สินเชื่อรวมให้ไปถึง 2,200 ล้านบาท และกำหนดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อมากกว่า 10,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 โดยเน้นการเติบโตของสินเชื่อรับซื้อหนี้การค้า (Factoring) ซึ่งเป็นสินเชื่อระยะสั้น ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด และตอบโจทย์ลูกค้า SMEs เนื่องจากทำให้ลูกค้ามีสภาพคล่องทางการเงิน และมีทุนหมุนเวียนต่อยอดธุรกิจ ขยายฐานลูกค้า โดยเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จากเดิมที่เน้นไปที่ลูกค้าขนาดกลาง และขนาดเล็ก เท่านั้น รวมถึงปรับปรุงการบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม
นอกจากนี้ ยังเน้นการให้บริการสินเชื่อเพื่อค้ำประกันซองประมูลสำหรับลูกค้าเอสเอ็มอี ที่ต้องการเข้าประมูลงานราชการ เพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐในการขยายปริมาณการลงทุนภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2560 รวมไปถึงเน้นการเติบโตของสินเชื่อลีสซิ่ง และสินเชื่อเช่าซื้อ (Leasing & Hire Purchase) โดยตั้งเป้าหมายที่จะสร้างพอร์ตลูกหนี้คงเหลือ (Outstanding) ของสินเชื่อประเภทนี้ให้ไปถึง 550 ล้านบาท เพื่อปรับฐานให้บริษัทฯ มีรายได้ที่สม่ำเสมอ (Recurring Income) และตั้งเป้าหมายในการทำรายได้จากการให้สินเชื่อให้กู้ยืม (Project Backup Finance) เพื่อสนับสนุนโครงการ ในสัดส่วนที่เท่ากับหรือมากกว่า 35% ของรายได้รวม เนื่องจากผลิตภัณฑ์สินเชื่อนี้ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาด
แม้บริษัทฯ จะมีจุดแข็งในแง่ของการปล่อยสินเชื่อได้อย่างรวดเร็ว ให้วงเงินสูง และไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่บริษัทฯ ยังคงเข้มงวดในการบริหารจัดการความเสี่ยงควบคู่ไปกับการเพิ่มสัดส่วนรายได้สำหรับการให้บริการสินเชื่อประเภทต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน และกำหนดเป้าหมายการสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในอัตราไม่น้อยกว่า 2.75% ของยอดลูกหนี้คงเหลือสุทธิจากหลักประกัน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทฯ ที่ได้กำหนดสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ไว้ที่ระดับไม่เกิน 3% โดยมีนโยบายในการคัดกรองลูกค้าอย่างเข้มงวดเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน