“คมนาคม”เตรียมเสนอครม. ของบเพิ่มเติมปี 59 อีก 2.6 หมื่นล. ให้ทล.-ทช.ซ่อมบำรุงผิวถนนทั่วประเทศ คาดใช้ปริมาณยางพาราเพิ่มอีก 3.7 หมื่นตัน รวมกับแผนเดิมที่ใช้ยางพารา 2 หมื่นตัน เป็น 5.7 หมื่นตันเพื่อสนองนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 ม.ค.นี้ กระทรวงคมนาคมจะรายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับการนำยางพารามาใช้ในการก่อสร้างและซ่อมบำรุงถนน ตามนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างรวบรวมปริมาณการนำยางพารามาก่อสร้างถนนและซ่อมบำรุงถนนที่ชำรุดเสียหาย ตามข้อร้องเรียนของประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง(ทล.) และกรมทางหลวงชนบท(ทช.) ในปี 2559 และจะพิจารณางานในปีงบประมาณ 2560-2561 ด้วย โดยเบื้องต้นในปี 2559 จะใช้ยางพาราจำนวน 20,000 ตันแน่นอน และจะพิจารณาเพิ่มปริมาณยางพาราอีก
ซึ่งการใช้ ยางพาราธรรมชาติมาใช้เป็นส่วนผสมในขั้นตอนของการฉาบผิวถนนหรือพาราสเลอรีซิลนั้นจะมีการกำหนดเงื่อนไขในการประกวดราคา แตกต่างกับการใช้แอสฟัลต์คอนกรีต (asphalt concrete) ซึ่งไม่มีปัญหาในการประกวดราคา แต่ยอมรับว่าในภาพรวมจะทำให้งบประมาณในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น แต่อายุการใช้งานของถนนที่ใช้พาราแอสฟัลติก จะยาวนานกว่า
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สรุปข้อมูลการใช้ยางพาราสำหรับทำถนนบริเวณที่เป็นจุดตัดกับทางรถไฟ จากเดิมที่ใช้บล็อกคอนกรีต ให้ปรับมาเป็นพาราแอสฟัลติกทั้งหมด ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรงทนทานกว่า ทั้งนี้ การใช้ยางพารามาทำผิวถนนนั้น จะใช้ส่วนที่เป็นน้ำยางข้น ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30% อีก 70% จะเป็นยางแผ่นโดยภาพรวมของกระทรวงคมนาคม คาดว่าในปี 2559 จะใช้ยางพาราประมาณ 60,000 ตัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า งานก่อสร้างถนนและซ่อมบำรุงของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทในปีงบประมาณ 2559 จะใช้ปริมาณยางพารา 20,000 ตัน โดยขณะนี้ กระทรวงคมนาคมได้ปรับเพิ่มการใช้ปริมาณยางพาราให้ได้อีกประมาณ 37,000 ตัน ซึ่งจะมีการเสนอครม.พิจารณางบประมาณเพิ่มเติม อีกจำนวน 26,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการบูรณะถนนด้วยพาราแอสฟัลต์ในปี 2560-2561 ที่มีแบบและมีความพร้อมในการ ดำเนินงานได้ทันที ของกรมทางหลวง 16,000 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราตามนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง
ทช.เผยงบปี 59 ใช้ยางพารา 9,500 ตัน งานสร้างและซ่อมบำรุง
ด้านนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า โครงการก่อสร้างและซ่อมบำรุงในปีงบประมาณ 2559 ของ ทช. ในส่วนของค่างานพื้นผิวถนนนั้น มีมูลค่าประมาณ 4,900 ล้านบาท ซึ่งมติครม.เมื่อเดือนพ.ย. 2558 ให้ทุกหน่วยงานราชการดำเนินงานปรับปรุงแบบโดยใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบนั้น จากออกแบบถนนของ ทช. โดยใช้ยางพาราธรรมชาติประมาณ 5% เป็นส่วนผสมในขั้นตอนของการฉาบผิวถนนหรือพาราสเลอรีซิล คาดว่าจะใช้ปริมาณยางพาราประมาณ 9,500 ตัน ทั้งนี้ การใช้ยางพาราแทนยางมะตอยนั้น ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างในส่วนของชั้นผิวทางเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ซึ่งในส่วนของโครงการก่อสร้าง ไม่กระทบกับงบประมาณที่ได้รับ ส่วนการซ่อมบำรุงอาจจะมีการปรับลดระยะทางลงบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณ
นอกจากนี้ จะพิจารณาในส่วนของงบประมาณเหลือจ่ายในปี 2559 เพื่อนำมาออกแบบผิวทางพาราแอสฟัลติกเพิ่มเติม คาดว่าจะสามารถเพิ่มการใช้ปริมาณยางพาราได้อีก 800-820 ตัน อย่างไรก็ตาม คุณภาพของผิวทางที่ใช้ พาราแอสฟัลติก จะมีความแข็งแกร่งกว่า แอสฟัลติก โดยเฉพาะเส้นทางที่มีจำนวนรถบรรทุกมาก โดยเฉลี่ยจะมีอายุการใช้งานที่ 9 ปี ส่วนผิวแอสฟัลติก อายุใช้งานเฉลี่ยประมาณ 7 ปี แต่ทั้งนี้ ผิวทางพาราแอสฟัลติก จะต้องมีการควบคุมคุณภาพในการก่อสร้าง ที่รัดกุมมากกว่าด้วย