xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมเร่งประมูลรถเมล์ไฟฟ้า 200 คันปีนี้ ประกอบในประเทศคันละกว่า 16 ล้านแต่ระยะยาวคุ้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ออมสิน” ทดลองนั่งรถเมล์ไฟฟ้าต้นแบบที่ประกอบเองในประเทศคันแรก โดย “ล็อกซเล่ย์” พร้อมการันตีปีนี้ ขสมก.จะต้องประมูลซื้อ NGV489 คัน และรถเมล์ไฟฟ้า 200 คันได้แน่นอน เร่ง ขสมก.สรุปแผนเสนอ ครม.ขออนุมัติ ยอมรับราคาคันละ 16-17 ล้านยังสูงไป ด้าน ขสมก.คาดประมูล NGV 489 คันใน ก.พ. เซ็นสัญญา เม.ย. 59 ส่วนแผนรถเมล์ไฟฟ้า 200 คันรอสรุปราคาก่อนชงบอร์ด ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 7 ม.ค. บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ได้นำรถโดยสารไฟฟ้าต้นแบบซึ่งประกอบในประเทศไทยเป็นคันแรก เปิดตัวที่กระทรวงคมนาคม พร้อมทดลองวิ่งจากกระทรวงคมนาคม วนรอบสนามหลวงเพื่อทดสอบสมรรถนะ ก่อนที่ในวันที่ 8 ม.ค. จะนำไปโชว์ที่ทำเนียบรัฐบาลต่อ โดยนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้นำรถเมล์ไฟฟ้ามาทดลองใช้วิ่งใน กทม. จะนำร่องประมาณ 200 คันก่อน ซึ่งได้มอบหมายให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ศึกษาแผนการจัดหาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ทั้งนี้ จากมติ ครม.ปี 2548 ให้จัดหารถเมล์ NGV จำนวน 3,183 คันนั้น ขณะนี้จะมีการจัดหาก่อน 489 คัน และส่วนที่เหลือ จะปรับมาจัดหาเป็นรถเมล์ไฟฟ้านำร่อง 200 คัน โดยอยู่ระหว่างประเมินราคาและเปรียบเทียบวิธีการจัดหา ระหว่างการเช่า หรือซื้อ เพราะแต่ละวิธีมีทั้งข้อดีข้อเสีย ซึ่งการเช่าจะดีตรงที่บริษัทผู้ให้เช่าจะรับผิดชอบเรื่องการซ่อมบำรุง และมีสำรองใช้ทดแทนรถที่เสียตลอดเวลา แต่รถจะไม่ใช่ของเรา โดยในปี 2559 นี้ ขสมก.จะต้องจัดหาเมล์ NGV จำนวน 489 คัน และรถเมล์ไฟฟ้า 200 คัน ได้แน่นอน

“รถเมล์ไฟฟ้าต้นแบบคันนี้เป็นแบบชานต่ำ (Low Floor) ความสูงจากพื้น 30 ซม. สามารถยกขึ้นและปรับระดับลงได้อีก 10 ซม. กรณีมีน้ำท่วม พร้อมระบบรองรับการให้บริการสำหรับคนพิการ ราคาต้นทุนจากนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบในประเทศ โดยเสียภาษีตามปกติ อยู่ที่ประมาณคันละ 16-17 ล้านบาท ซึ่งราคายังไม่นิ่ง และยังแพงอยู่ โดยหลักๆ รถเมล์ไฟฟ้า จะมีต้นทุนที่แบตเตอรี่ ซึ่งยังไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบกับรถเมล์ NGV ที่ประกวดราคาอยู่ ราคา 3.5 ล้านบาทต่อคัน แต่ผลการศึกษาพบว่า ในระยะยาว รถเมล์ไฟฟ้าจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า ส่วนรถ NGV จะมีค่าซ่อมบำรุงสูงมาก” นายออมสินกล่าว

***ขสมก.คาดประมูล NGV 489 คันใหม่ ก.พ. เซ็นสัญญา เม.ย. 59

ด้านนางปราณี ศุกระศร รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.กล่าวว่า ขสมก.ได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาโครงการจัดหารถเมล์ไฟฟ้านำร่อง 200 คัน ซึ่งอยู่ระหว่างประเมินราคาที่เหมาะสม และเปรียบเทียบต้นทุนระหว่างการนำเข้าทั้งคันและการนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบในประเทศ โดยเบื้องต้นจะใช้วิธีการเช่า เพื่อลดภาระเรื่องการซ่อมบำรุงโดยผู้ให้เช่าจะต้องรับผิดชอบการซ่อมบำรุงรวมถึงรับประกันการรถวิ่งครบจำนวน 200 คัน ตลอดเวลา ซึ่งคาดว่าจะสรุปเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก.ที่มี พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ในเดือนก.พ. 2559 จากนั้นจะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอครม.ต่อไป

ทั้งนี้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการจัดหารถเมล์ NGVจำนวน 3,183 คันเดิม เป็นจัดซื้อรถ NGV จำนวน 489 คัน และเช่ารถเมล์ไฟฟ้า 200 คัน ดังนั้น ตามมติเดิมยังเหลืออีกจำนวน 2,494 คัน ซึ่งจะจะรอนโยบายพิจารณาต่อไป

ส่วนการจัดซื้อรถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น คณะกรรมการร่างขอบเขตของงาน (TOR ) และร่างเอกสารการประกวดราคา จะประชุมเพื่อทบทวนเงื่อนไข TOR วันที่ 11 ม.ค.นี้ ซึ่งหลักๆ จะมีการปรับปรุงในส่วนที่มีการตั้งสังเกต เช่น การแยกสัญญาซื้อรถ กับสัญญาซ่อมบำรุง เป็นการรวมสัญญาเคาะอี-อ็อกชั่นครั้งเดียว ซึ่งขสมก.จะใช้ราคาตัวรถจากผลการประมูลครั้งที่แล้วเป็นราคากลาง ที่คันละ 3.55 ล้านบาท โดยวงเงินค่าจัดหาตัวรถรวมจะลดลงจาก 1,784.85 ล้านบาท มาอยู่ที่ประมาณ 1,738 ล้านบาท ส่วนค่าซ่อมบำรุงเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 1,600 ล้านบาท ระยะเวลารับประกัน 5 ปี ระยะเวลาซ่อมบำรุง 10 ปี โดยจะสรุป TOR ในปลายเดือน ม.ค. และเปิดประมูลใน ก.พ. ทำสัญญาเดือน เม.ย. และเริ่มรับรถในเดือน ส.ค. 2559

***ล็อกซเล่ย์โชว์รถเมล์ไฟฟ้าต้นแบบสุดไฮเทค สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

นายโกศล สุรโกมล ที่ปรึกษาสำนักกรรมการผู้จัดการ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รถต้นแบบคันนี้บริษัทนำเข้าแชสซีส์ แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า ระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงเบาะนั่ง เกือบทั้งหมดมาประกอบในประเทศ ใช้วัสดุในประเทศไม่ถึง 20% เนื่องจากผลิตแค่ 1 คันเท่านั้น โดยเฉพาะแบตเตอรี่มีคันละ 2 ชุด เป็นต้นทุนหลัก 30-40% ต่อรถ 1 คัน แต่หากมีการผลิตจำนวนมากขึ้นเชื่อว่าจะเพิ่มสัดส่วนวัสดุในประเทศได้ ช่วยลดต้นทุนลงได้อีก

สำหรับรถเมล์ไฟฟ้าต้นแบบ มี 35 ที่นั่ง ติดตั้งระบบอีแคส (ECAS) ที่สามารถปรับลดระดับความสูงของรถขณะจอดให้ต่ำลงเพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร และผู้ที่ต้องใช้รถเข็น พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ไวไฟ โทรทัศน์ ติดตั้ง GPS ควบคุมการขับ ใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ทำความเร็วสูงสุด 70 กม./ชม.โดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ความจุ 324 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ใช้เวลาชาร์จแบตเตอรี่ 5 ชม. สามารถวิ่งได้ระยะทาง 250 กม.ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง โดยไม่สูญเสียพลังงานจากรถติด อายุการใช้งานของแบตเตอรี่สามารถชาร์จได้ 6,000 ครั้งหรือ 15ปี
















กำลังโหลดความคิดเห็น