วันที่ 31 ธ.ค. 2558 เป็นวันแรกของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นทางการ และนับเป็นก้าวสำคัญของอาเซียนที่จะรวมตัวเป็นตลาดเดียวกัน ที่จะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี ซึ่งสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในอาเซียนจะเป็นอย่างไร และอนาคตอาเซียนหลังเป็น AEC แล้วจะก้าวไปทางไหน “น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ตอบข้อสงสัยในประเด็นเหล่านี้
น.ส.ศิรินารถเริ่มต้นอธิบายว่า เมื่ออาเซียนเป็น AEC สิ่งที่จะเกิดขึ้นคงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก หรือเปลี่ยนแปลงแบบเห็นได้ชัด เพราะไม่เหมือนการปิดกั้นน้ำเอาไว้ แล้วปล่อยลงมาทีเดียว แต่ความร่วมมือของอาเซียนมีการทำงานและร่วมมือกันเปิดเสรีมาเป็นลำดับ มีพัฒนาการด้านการเปิดเสรีมาต่อเนื่อง และตอนนี้ ถือว่ามาถึงจุดสูงสุดอีกครั้งของอาเซียน แต่ไม่ได้หมายความว่าอาเซียนจะหยุดความร่วมมือกันเพียงแค่นี้ ยังมีความร่วมมือที่จะต้องพัฒนากันต่อไปอีกตามแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 หรือแผนอาเซียน 10 ปี ที่ผู้นำได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และจากนี้ไปจะเริ่มทำงานกันต่อ
ส่วนคำถามที่ว่า ก่อนที่จะเป็น AEC อาเซียนมีการเปิดเสรีระหว่างกันคืบหน้าไปแค่ไหน น.ส.ศิรินารถบอกว่า การเปิดเสรีการค้าสินค้า ส่วนใหญ่ภาษีเป็น 0% เกือบหมดแล้ว หรือคิดเป็น 95.99% ของรายการที่ค้าขายกันในอาเซียนทั้งหมด เท่ากับว่าเหลือเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ยังมีภาษี ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอ่อนไหว เช่น ข้าว น้ำตาล ผักและผลไม้บางชนิด เนื้อสัตว์บางชนิด กาแฟ และยาสูบ เป็นต้น แต่ในอนาคตจะต้องหารือเพื่อลดภาษีลงมาให้เหลือระดับต่ำที่สุดให้ได้
ทางด้านการค้าบริการ มีการเปิดเสรีไปกว่า 100 สาขา ในสาขาบริการการขนส่งทางอากาศ โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สุขภาพ การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ เปิดให้ถือหุ้นได้สูงสุดถึง 70% และจะมีการหารือเพื่อเปิดเสรีเพิ่มขึ้นต่อไป ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจของไทยที่จะเข้าไปลงทุนในอาเซียน
ส่วนเรื่องวิชาชีพ อาเซียนได้ทำข้อตกลงยอมรับร่วม หรือ MRA ในสาขาวิชาชีพ 7 สาขา ได้แก่ วิศวกร สถาปนิก แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นักบัญชี และนักสำรวจ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเปิดAEC แล้ว อาชีพเหล่านี้จากอาเซียนจะเข้ามาทำงานได้เลย การเข้ามา ตั้งผ่านมาตรฐานที่กำหนด ทั้งมาตรฐานของอาเซียนและมาตรฐานแต่ละประเทศอีก ยืนยันไว้ตรงนี้เลยว่า ไม่มีผลกระทบกับผู้ประกอบวิชาชีพของไทย และแรงงานไทยแน่นอน เพราะเป็นคนละส่วนกัน ส่วนท่องเที่ยว ไม่ได้เป็นวิชาชีพ แต่อาเซียนเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ระหว่างกัน จึงได้กำหนดคุณสมบัติในเรื่องนี้ไว้ด้วย และอยากขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่า ไม่มีผลกระทบกับไกด์ท่องเที่ยว เพราะไม่ได้มีการเปิดเสรีมัคคุเทศก์ คนที่จะทำอาชีพนี้ ต้องมีไลเซนส์ ต้องรู้ภาษาไทย ต้องรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย มันมีระบบป้องกันอยู่ เลิกกังวลได้
สำหรับการลงทุน มีการเปิดเสรีในสาขาสินค้าเกษตร ประมง ป่าไม้ เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมการผลิต แต่การเปิดเสรีของไทย ส่วนใหญ่เป็นไปตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่อนุญาตไว้ จึงไม่มีผลกระทบต่อภาคการลงทุนของไทย แต่กลับกันได้สร้างโอกาสในการออกไปลงทุนให้กับนักลงทุนของไทย และที่สำคัญ มีการทำข้อตกลงด้านการลงทุนที่จะคุ้มครองการลงทุนที่เท่าเทียมกัน หมายความว่า เมื่อไทยเข้าไปลงทุนในอาเซียน ก็จะได้รับการดูแลจากประเทศนั้นๆ เหมือนที่ดูแลนักลงทุนของตัวเอง ทำให้กล้าออกไปลงทุนในอาเซียนมากขึ้น
น.ส.ศิรินารถกล่าวต่อว่า หลังจากเข้าสู่ AEC แล้ว อาเซียนจะไม่หยุดเพียงแค่นี้ จะมีการหารือเพื่อเปิดเสรีระหว่างกันเพิ่มขึ้นในทุกด้าน ซึ่งเป็นไปตามแผน AEC Blueprint 2025 หรือแผนอาเซียน 10 ปี ที่ต้องต่อยอดจากการเป็น AEC และผู้นำอาเซียนได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดยอาเซียนจะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของความร่วมมือในด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นให้มีความกว้างและลึกมากขึ้น เพราะอาเซียนจะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ที่อาเซียนจะต้องเผชิญในอนาคต อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
แนวทางการหารือเพื่อเปิดเสรีเพิ่มขึ้นนั้นจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียนที่จะมีการหารือเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ในสาขาต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2559
“สิ่งที่อาเซียนจะเน้นจากนี้ไป จะเป็นเรื่องของการเปิดเสรีภาคบริการ เพราะเป็นสาขาที่มีสำคัญในระบบเศรษฐกิจของอาเซียน จะมีการพิจารณายกเลิกและลดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน การปรับประสานมาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การเสริมสร้างระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้า การสร้างความเข้มแข็งแก่วิสาหกิจรายย่อยขนาดย่อมและขนาดกลาง (MSMEs) และส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิตอล” น.ส.ศิรินารถกล่าว
อย่างไรก็ตาม น.ส.ศิรินารถย้ำว่า ในการเจรจาเพื่อเปิดเสรีในแต่ละเรื่อง กรมฯ จะจัดให้มีการประชุมหารือ จัดสัมมนา เปิดเวทีสาธารณะ และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ก่อนที่จะกำหนดเป็นท่าทีของไทยในการเจรจาของไทย
น.ส.ศิรินารถอธิบายต่อว่า สิ่งที่ไทยต้องเตรียมความพร้อมในการเปิดเสรีที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นภาคบริการ โดยจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเปิดเสรีการค้าบริการ การพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพและความเชี่ยวชาญ การอำนวยความสะดวกการเข้ามาทำงานของคนต่างชาติในสาขาที่ไทยมีความต้องการพัฒนาภาคบริการภายในประเทศ โดยเฉพาะสาขาโลจิสติกส์ การศึกษา การเงินโทรคมนาคม ก่อสร้าง และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นสาขาสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเป็นชาติแห่งการค้าของไทยในอนาคต โดยไทยคงต้องพิจารณาเปิดตลาดในสาขาดังกล่าวในภาพรวมให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดตลาดให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้ AEC Blueprint
ขณะเดียวกัน ไทยจะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง พัฒนาพื้นที่ด่านที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และเร่งรัดการจัดทำระบบNational Single Windows ให้มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งในประเทศและภูมิภาค เพราะไทยมีที่ตั้งเป็นยุทธศาสตร์บริเวณศูนย์กลางภูมิภาค และมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางถนน และมีพรมแดนติดต่อประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและเป็นตลาดใหม่
สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โลกปัจจุบันหันเหสู่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศจะทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวหน้าไปได้ทันโลกและสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่ได้ เช่น ขยายโครงข่ายบรอดแบรนด์ให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ส่งเสริมและลงทุนด้าน Data Center ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ
นอกจากนี้จะต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการและการลงทุนของนักลงทุน รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจการค้าการลงทุน รวมทั้งต้องเน้นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา รวมถึงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้าง Creative Economy และพัฒนาให้สินค้าและบริการสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการใช้ประโยชน์จาก AEC ให้แก่ผู้ประกอบการไทยนั้น น.ส.ศิรินารถบอกว่า กรมฯ จะทำอย่างต่อเนื่อง แต่จะทำในระดับ Advance มากขึ้น จะออกไปบอกว่าจะใช้ประโยชน์จาก AEC ต้องทำแบบไหน ทำอย่างไร เจาะลึกเป็นรายสินค้า รายอุตสาหกรรม รายบริการ ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ก็จะไปบอกว่ามีแนวทางในการช่วยเหลืออย่างไร ต้องปรับตัวอย่างไร
ทั้งนี้ยังจะชี้แนะการใช้ประโยชน์จากกรอบการค้าเสรีที่อาเซียนทำกับประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย และกรอบ FTA ที่ไทยทำกับคู่ค้าอื่นๆ โดยจะชี้ให้เห็นว่าโอกาสของไทยอยู่ตรงไหน จะเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ยังไง ซึ่งจะทำไปพร้อมๆ กับการให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นทางการค้าใหม่ๆ ที่กำลังมาแรง เช่น สิ่งแวดล้อม แรงงาน เพราะหลายๆ ประเทศให้ความสำคัญ และนำมาเป็นเงื่อนไขทางการค้า ถ้าไทยไม่พร้อม ก็จะเสียโอกาสได้