xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยเดินแผนปฏิรูปเฟส 2 มั่นใจ ม.ค. 59 มีกำไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“จรัมพร” เดินเครื่องแผนปฏิรูปการบินไทยเฟส 2 มั่นใจมีกำไรตั้งแต่ ม.ค. 59 เผยแผนหลัก 4 ด้านเน้นการขาย ตั้งเป้าลดรายจ่าย 5,000 ล้านบาท รื้อระบบงานแต่ละหน่วยให้มีประสิทธิภาพ วางเป้า cabin factor เฉลี่ย 80% เพิ่มจำนวนผู้โดยสาร 5-10% ดันทั้งปีฟื้นมีกำไร

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามแผนปฏิรูปการบินไทยซึ่งมี 6 กลยุทธ์ ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (58-59) ซึ่งมีการปรับปรุงนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดแล้วเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2558 เชื่อว่าบริษัทจะกลับมามีกำไรตั้งแต่เดือน ม.ค. 2559 เนื่องจากต้นทุนในการดำเนินงานลดลงจากปีก่อน ประกอบกับเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว, ราคาน้ำมันลดลง และจำนวนผู้โดยสารที่มีการเติบโตขึ้น ซึ่งในปี 2559 จะเป็นการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปการบินไทยในเฟส 2 ต่อเนื่องจากปี 2558 โดยมีแผนงานหลัก 4 ด้าน คือ 1. แผนเพิ่มรายได้ ภายใต้การใช้ทรัพยากรที่น้อยลง ต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่ลดลง โดยตั้งเป้าเพิ่มการขายเพื่อเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร 5-10% และบริหารราคาตั๋วให้เหมาะสม จะช่วยเพิ่มรายได้ต่อคนต่อ กม.ประมาณ 3-7% เมื่อต้นทุนเท่าเดิม รายได้สูงขึ้นจะมีกำไรแน่นอน

2. แผนลดค่าใช้จ่าย เป้าหมายประมาณ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งจะมีการปรับโครงสร้างแต่ละหน่วยงาน ทั้ง re-process, re-engineering เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยปี 2559 ตั้งงบประมาณโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP) ไว้ 2,000 ล้านบาท

3. แผนการสร้างศักยภาพ จัดทำระบบงานใหม่ ซึ่งจะเสร็จกลางปี 2559 เช่น ระบบวางเครือข่ายเส้นทางที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น, จัดตารางการบินที่มีประสิทธิภาพ, ระบบบริหารราคาตั๋ว ซึ่งค่าโดยสารเฉลี่ยของการบินไทยยังต่ำกว่าคู่แข่งประมาณ 7% นอกจากนี้จะปรับระบบขายตั๋ว การอัปเกรดต่างๆ, ฝ่ายคาร์โก้ปรับ business model ไปสู่ระบบ lean managerment ซึ่งจะทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น, ฝ่ายช่าง ขยายการซ่อมไปในลานจอดมากขึ้น

4. แผนสร้างความเป็นเลิศด้านบริการลูกค้าผ่านรอยัลออร์คิด และบริการบนเครื่องบินชั้นธุรกิจในหลายเส้นทาง

นายจรัมพรกล่าวว่า ในปี 2558 ได้ดำเนินการแผนปฏิรูปในกลยุทธ์ที่ 1 คือ การลดเที่ยวบิน ยกเลิกบินเส้นทางที่ขาดทุน และปิดสถานีในต่างประเทศ 4 แห่ง คือ โจฮันเนสเบิร์ก มอสโก ลอสแองเจลิส มาดริด และกลยุทธ์ที่ 2 ขายเครื่องบินในปี 2558 รวม 24 ลำ และจะขายในปี 2559 อีก 14 ลำประกอบด้วย รวม 38 ลำ ซึ่งจะทำให้มีเครื่องบินในฝูงบินที่ 95 ลำ และรับมอบเครื่องบินเช่าอีก 2 ลำ (A350) ในเดือน มิ.ย. 2559 ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยความสามารถในการรับผู้โดยสารได้จำนวนเท่าเดิมภายใต้จำนวนเครื่องบินที่ลดลง เส้นทางบินที่ลดลง โดยมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) เฉลี่ย 73% เพิ่มขึ้นจากปี 57 ที่มี cabin factor เฉลี่ยที่ 68% โดยปี 2559 คาดว่าจะมี cabin factor เฉลี่ยที่เกือบ 80% โดยคาดการณ์ตามการประเมินอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก

“กลยุทธ์หลักปี 59 คือ การขาย ซึ่งทางสมาคมขนส่งทางอากาศ หรือไออาตา ประเมินว่า cabin factor เฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบินจะอยู่ที่ 80% ซึ่งการบินไทยเชื่อว่าจะทำได้ในทิศทางเดียวกัน ซึ่งแนวโน้มเริ่มดี โดยสัญญาณการเดินทางช่วงปีใหม่ การบินไทยมีผู้โดยสารต่างประเทศเฉลี่ยวันละ 43,900 คน ในประเทศ 12,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีใหม่ 58 ประมาณ 5%” นายจรัมพรกล่าว

นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและบัญชี การบินไทย กล่าวว่า ในเดือน ม.ค. 2559 ค่าใช้จ่ายด้านพนักงานและอื่นๆ จะลดลงอย่างเห็นได้ชัดเพราะโครงการร่วมใจจากจำนวน 1,401 คนหมดแล้ว รวมถึงหมดภาระค่าใช้จ่ายสถานีต่างประเทศที่ยกเลิก 4 แห่งปีละหลายร้อยล้านบาท ขณะที่ในปี 2559
บริษัทไม่มีการลงทุนหรือซื้อเครื่องบินใหม่ ดังนั้น รายได้ที่เข้ามาทุกๆ ด้านจะสามารถนำไปชำระหนี้ได้มากขึ้น โดยบริษัทมีหนี้ประมาณ 2 แสนล้านบาท ภาระชำระหนี้คืนปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท

ส่วนกรณีที่ปี 2558 ตั้งเป้าปรับลดค่าใช้จ่ายลง 10,700 ล้านบาท แต่ทำได้ที่ 8,000 ล้านบาท อาจจะมองว่าทำพลาดเป้า ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นในเรื่องปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) คนร.ตั้งเป้าให้ลดลง 15% แต่บริษัทยกเลิกเส้นทางบินล่าช้าและขายเครื่องบินช้า จากแผน 5-6 เดือน โดยลด ASK ลงเพียง 0.5% แต่ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ถึง 8,000 ล้านบาท หรือประมาณ 8%
กำลังโหลดความคิดเห็น