“พาณิชย์” ชงออกพระราชกฤษฎีกาแก้กฎหมายทะเบียนพาณิชย์ ให้อำนาจรัฐมนตรีกำหนดธุรกิจบริการจดทะเบียนพาณิชย์ได้ หลังเดิมยกเว้นเอาไว้ เหตุธุรกิจบริการกำลังโตวันโตคืน และยังเป็นการช่วยเหลือ SMEs ให้มีตัวตนและเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ง่ายขึ้น เผยเดือนพ.ย.บริษัทตั้งใหม่ เพิ่มขึ้น 2% แต่จดเลิกเพิ่ม 31% ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจค้าสลาก และไม่ต้องการส่งงบการเงิน คาดทั้งปีเข้าเป้า 6 หมื่นราย
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เสนอให้มีการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) แก้ไข พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ โดยกำหนดให้ รมว.พาณิชย์สามารถออกประกาศกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ธุรกิจบริการจดทะเบียนพาณิชย์ได้ เพราะจากเดิมในกฎหมายกำหนดไว้ว่ามีธุรกิจใดบ้างที่สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ แต่ได้ยกเว้นธุรกิจบริการอื่นๆ เอาไว้ โดยจะแก้ไขเป็นธุรกิจบริการอื่นๆ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ตามที่ รมว.พาณิชย์ ออกประกาศกำหนด ซึ่งจะทำให้ต่อไปธุรกิจบริการสามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ เพราะขณะนี้ธุรกิจบริการกำลังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
“การจดทะเบียนพาณิชย์เป็นการช่วยเหลือให้ SMEs และผลักดันให้ธุรกิจบริการขยายตัว เพราะเดิมธุรกิจบริการไม่สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ หรือจดได้ก็ต้องไปจดในหมวดอื่น เช่น บริการเสริมสวย ต้องจดเป็นขายเครื่องสำอาง หรืออย่างอู่ซ่อมรถ ซ่อมคอมพิวเตอร์ ก็ต้องระบุวัตถุประสงค์เป็นอย่างอื่น ซึ่งไม่ตรง แต่การกำหนดให้ธุรกิจบริการจดทะเบียนได้ เป็นการช่วยให้ธุรกิจมีตัวตน มีหมวดหมู่ชัดเจน และยังช่วยให้เข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยง่าย” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว
ก่อนหน้านี้ กรมฯ เคยได้กำหนดให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ซึ่งได้มีการแก้ไขโดยออกเป็น พ.ร.ฎ. ซึ่งใช้เวลานานและขั้นตอนยุ่งยาก รวมถึงการกำหนดให้ธุรกิจเกี่ยวกับวีดิโอ ซีดี และธุรกิจเกี่ยวกับการค้างาช้าง ต้องจดทะเบียน ก็ล้วนแต่ต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขให้ธุรกิจบริการเหล่านี้ต้องมาจดทะเบียน แต่การออกพ.ร.ฎ. ยกเว้นให้ธุรกิจบริการอื่นๆ เป็นอำนาจที่กำหนดได้โดย รมว.พาณิชย์ ก็จะทำให้มีความคล่องตัวในการกำหนดธุรกิจบริการที่ต้องจดทะเบียนได้ง่ายขึ้น และทันกับสถานการณ์มากขึ้น
น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า ส่วนความคืบหน้า พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดให้มีผู้บังคับหลักประกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายนี้ คาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จทัน 240 วันก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ก.ค. 2559 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะช่วยยกระดับการทำธุรกิจของไทยให้มีอันดับที่ดีขึ้น เพราะมีสาระสำคัญ คือ สามารถใช้สังหาริมทรัพย์ เช่น กิจการ เครื่องจักร สูตรอาหาร ทรัพย์สินทางปัญญา มาเป็นหลักประกันในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
สำหรับความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งนิติบุคคลโดยบุคคลคนเดียว พ.ศ. ... ขณะนี้เสนอ รมช.พาณิชย์แล้ว คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เร็วๆ นี้ ก่อนเข้าสู่กระบวนการยกร่างให้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับทิศทางการประกอบธุรกิจของโลก โดยต่อไปเจ้าของสามารถจัดตั้งธุรกิจของตัวเองได้โดยไม่ต้องหาผู้ร่วมก่อการ ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกในการเข้าสู่ระบบธุรกิจได้ง่ายขึ้น
น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า การจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศเดือน พ.ย. 2558 มีจำนวน 4,520 ราย เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. 2557 ซึ่งมีจำนวน 4,422 ราย เพิ่มขึ้น 98 ราย หรือเพิ่มขึ้น 2% แต่ลดลง 711 ราย หรือลดลง 14% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 5,231 ราย ส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกมีจำนวน 2,722 ราย เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. 2557 และเพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยธุรกิจที่เลิกสูงสุด คือ ธุรกิจค้าสลาก จำนวน 450 ราย คิดเป็น 17% ของธุรกิจที่เลิกทั้งหมด
“ปกติเดือน พ.ย.-ธ.ค.ของทุกปีจะมียอดจดตั้งใหม่ลดลง เพราะเมื่อตั้งบริษัทแล้วก็ต้องส่งงบการเงินประจำปีเลย ทำให้คนไปรอจดปีหน้าแทน ส่วนยอดจดเลิกบริษัทจะสวนทางกัน ส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้น เพราะถ้าจดเลิก ก็ไม่ต้องส่งงบการเงิน ทำให้คนรีบมาจดเลิกกันในช่วงปลายปี ไม่ได้มีสาเหตุอย่างอื่น” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว
ทั้งนี้ ยอดจดทะเบียนตั้งใหม่ในช่วง 11 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-พ.ย.) มีจำนวน 56,910 ราย เฉลี่ยเดือนละ 5,174 ราย ส่วนธุรกิจเลิกกิจการ มีจำนวน 16,771 ราย เฉลี่ยเดือนละ 1,525 ราย และคาดว่าทั้งปีจะจดตั้งใหม่ที่ 6 หมื่นราย และปี 2559 คาดว่าจะอยู่ในระดับเดียวกันที่ 6 หมื่นราย โดยมีปัจจัยที่จะช่วยกระตุ้นการจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่ คือ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ และมาตรการส่งเสริม SMEs แต่ก็ต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน การส่งออก ปัญหาภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ที่จะมีผลกระทบต่อการจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่