xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”เตรียมพร้อมช่วยเอสเอมอี ใช้วัตถุดิบ ทรัพย์สินทางปัญญา ค้ำกู้เงินตามพ.ร.บ.หลักประกันธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เตรียมพร้อมบังคับใช้ร่างพ.ร.บ.หลักประกันธุรกิจ หาก สนช. ผ่านร่างกฎหมาย เผยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาและตั้งสำนักทะเบียนให้ข้อมูลแล้ว เชื่อเอสเอ็มอีได้ประโยชน์สามารถนำวัตถุดิบ ทรัพย์สินทางปัญญากู้เงินได้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้เสนอร่างพ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับผิดชอบกำกับดูแลนั้น ขณะนี้ที่ประชุมสนช.ได้มีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว โดยมีกำหนดระยะเวลาการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ 60 วัน และคาดว่าจะเสนอเข้า สนช. วาระต่อไปได้ในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เป็นการลดข้อจำกัดการนำทรัพย์สินมาใช้เป็นหลักประกันในการชำระหนี้ ซึ่งตามกฎหมายในปัจจุบันกำหนดให้นำทรัพย์สินไปจำนองหรือจำนำเท่านั้น และการจำนองกฎหมายได้จำกัดประเภทของทรัพย์สินที่นำมาจำนองไว้เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินมีทะเบียนบางประเภท

สำหรับการจำนำ กฎหมายกำหนดให้ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นด้วย ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในกิจการไปใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ เช่น วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า หรือสินค้าคงคลัง เป็นต้น หรือหากนำทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการไปจำนำ จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขาดโอกาสในการนำทรัพย์สิน เครื่องมือ หรืออุปกรณ์เหล่านั้นไปแสวงหารายได้ เพราะต้องส่งมอบให้แก่ผู้รับจำนำ รวมทั้งในการดำเนินธุรกิจอาจมีทรัพย์สินประเภทอื่นที่มีมูลค่า ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า เป็นต้น และรวมทั้งมีสิทธิเรียกร้องต่างๆ เช่น ลูกหนี้การค้า ก็สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ ดังนั้น กฎหมายหลักประกันธุรกิจจึงเป็นผลดีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจไทย

“ผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าอื่นที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น รวมทั้งกฎหมายยังกำหนดให้มีระบบการบังคับหลักประกันที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม เป็นการลดภาระทางศาลและการบังคับคดีโดยเจ้าพนักงาน”

นอกจากนี้ ยังเป็นการลดปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจ และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจของไทยตามตัวชี้วัดด้านการให้สินเชื่อของธนาคารโลก (Doing Business) ด้วย

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจขึ้น ในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งจะทำหน้าที่รับจดแจ้งสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ แก้ไขรายการ และยกเลิกการจดแจ้งสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รวมทั้งต้องจัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับการจดแจ้งหลักประกันทางธุรกิจ และข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้บังคับหลักประกัน เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบดูได้ด้วย

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมฯ ได้เตรียมความพร้อมที่จะเข้าไปบังคับใช้พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ โดยได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับและติดตามผลการเตรียมความพร้อมการรองรับภารกิจตามพ.ร.บ.ดังกล่าว และคณะทำงานเตรียมพร้อมทั้งด้านโครงสร้างองค์กร ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งทีมงานเพื่อยกร่างกฎหมายลำดับรอง เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้

“ขณะนี้ คณะทำงานได้ดำเนินการศึกษาและหารือร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศที่มีภารกิจด้านการจดทะเบียนหลักประกันฯ และธนาคารโลก เพื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์กฎหมายหลักประกันของต่างประเทศ ระบบการจดทะเบียนของต่างประเทศ และเทคโนโลยีที่ใช้ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดี และลดปัญหาอุปสรรค เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประมวลวางแผนการจดทะเบียนหลักประกันฯ ของไทยให้มีความเป็นสากลเทียบเท่านานาประเทศ”


กำลังโหลดความคิดเห็น