กระทรวงพาณิชย์เผยความคืบหน้าของร่างกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจ SMEa ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ล่าสุดที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณาแล้ว คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาได้เร็วๆ นี้
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้เสนอร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น หวังให้ไทยเป็นประเทศที่ง่ายต่อการค้า การลงทุน และดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามเป้าหมายสูงสุดของรัฐบาล ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดบทบาทให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
สำหรับความคืบหน้า ในขณะนี้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 มีกำหนดระยะเวลาการพิจารณาดำเนินการในชั้นกรรมาธิการ 60 วัน และคาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาในวาระต่อไปได้ในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจขึ้น ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เป็นการลดข้อจำกัดการนำทรัพย์สินมาใช้เป็นหลักประกันในการชำระหนี้ ซึ่งตามกฎหมายในปัจจุบันกำหนดให้นำทรัพย์สินไปจำนองหรือจำนำเท่านั้น และการจำนองกฎหมายได้จำกัดประเภทของทรัพย์สินที่นำมาจำนองไว้เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สิน มีทะเบียนบางประเภท ส่วนการจำนำกฎหมายกำหนดให้ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นด้วย
ที่ผ่านมาผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในกิจการไปใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ เช่น วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า หรือสินค้าคงคลัง เป็นต้น หรือหากนำทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการไปจำนำก็จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขาดโอกาสในการนำทรัพย์สิน เครื่องมือ หรืออุปกรณ์เหล่านั้นไปแสวงหารายได้ เพราะต้องส่งมอบให้แก่ผู้รับจำนำ รวมทั้งในการดำเนินธุรกิจก็อาจจะมีทรัพย์สินประเภทอื่นที่มีมูลค่า ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า เป็นต้น และรวมทั้งมีสิทธิเรียกร้องต่างๆ เช่น ลูกหนี้การค้า ก็สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ หรือแม้แต่กิจการทั้งกิจการก็สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้เช่นเดียวกัน
โดยกฎหมายหลักประกันธุรกิจดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าอื่นที่ใช้ในการประกอบธุรกิจไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น รวมทั้งกฎหมายยังกำหนดให้มีระบบการบังคับหลักประกันที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม เป็นการลดภาระทางศาลและการบังคับคดีโดยเจ้าพนักงาน นอกจากนี้ยังเป็นการลดปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังมีส่วนช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจ และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจของไทยตามตัวชี้วัดด้านการให้สินเชื่อของธนาคารโลก (Doing Business) อีกประการหนึ่งด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *