ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดแอร์ร้อนระอุ แบรนด์ไทยเดี้ยงเหลือไม่กี่ราย “สตาร์แอร์” รุกหนัก ทุ่ม 500 ล้านบาท เพิ่มกำลังผลิตเท่าตัว รับขยายตลาด พร้อมเพิ่มดีลเลอร์และรุกหนักภาคใต้กับยุโรป ดันยอดขายโต 5% หวังแชร์เพิ่มจาก 5% เป็น 10% ในอีก 5 ปี
นายวุฒิไกร เอื้อชูยศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศแบรนด์ สตาร์แอร์ ของไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดแอร์มีมูลค่ารวมมากกว่า 25,000-30,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์จากต่างประเทศที่ครองตลาดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบรนด์จากญี่ปุ่นและแบรนด์จากเกาหลี และแบรนด์จีนที่เริ่มมารุกตลาดมากขึ้น และมีงบทำตลาดมากกว่า
ขณะที่แบรนด์ไทยที่มีการทำตลาดอย่างจริงจังมีเหลือเพียง 7 แบรนด์เท่านั้นที่อยู่ในท้องตลาด เช่น สตาร์แอร์, อะมิน่าแอร์, ซัยโจ เดนกิ, ทาซากิ, เซ็นทรัลแอร์, ยูนิแอร์, มีเดียแอร์ เป็นต้น มีแชร์รวมกันมากกว่า 30% จากตลาดรวม เทียบจากเมื่อช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีมากกว่า 20 แบรนด์ แต่ก็ล้มหายตายจากไปมาก เพราะเจอแรงบีบของแบรนด์นอกไม่ไหว โดยปัจจุบันสตาร์แอร์มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 5% จากตลาดรวมทั้งหมด และตั้งเป้าเพิ่มแชร์จาก 5% เป็น 10% ในอีก 5 ปี
ล่าสุดบริษัทฯ ได้ลงทุนกว่า 500 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตแอร์ที่โรงงานเดิมปากเกร็ด นนทบุรี เพิ่มอีก 2 โรง จำนวน 16 ไร่ รวม 20,000 ตารางเมตร เพิ่มกำลังผลิตอีกเท่าตัว คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีหน้า จากเดิมมีกำลังผลิตเพียง 100,000 ชุดต่อปีเท่านั้น เพื่อรองรับการเติบโตและการขยายตลาดในประเทศและต่างประเทศด้วย ทั้งในรูปแบบโออีเอ็ม โอดีเอ็ม และแบรนด์ตัวเอง และขยายตลาดในประเทศ แต่คงเป้าการเติบโตไว้ที่ 5% เหมือนปีที่แล้ว เพราะการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง
แผนขยายตลาดในไทยจะรุกหนักที่ภาคใต้ซึ่งเป็นตลาดที่ยังมียอดขายน้อยและมีดีลเลอร์น้อย และมีเป้าหมายที่จะขยายดีลเลอร์เพิ่มอีกทั่วประเทศ จากเดิมมี 250 ราย รวมทั้งจะให้การช่วยเหลือและสนับสนุนดีลเลอร์ในการทำตลาดด้วย โดยไม่ได้เน้นการขายช่องทางค้าปลีกหรือโมเดิร์นเทรดเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่ตลาดโครงการที่ต้องมีการประมูลนั้น มีการแข่งขันที่รุนแรงด้านราคา
“เรามีการพัฒนาสินค้าตลอดเวลา และมีดีไซน์ใหม่ๆ ตลอด จากประสบการณ์นานกว่า 30 ปี มีทีมบริการรองรับการขยายตลาด มีการกลับมาซื้อซ้ำของลูกค้ามากว่า 85% ปีหน้าใช้งบตลาดประมาณ 10 ล้านบาท ราคาแอร์ของเราแพงกว่าเกาหลี 10% แต่ต่ำกว่าแบรนด์จากญี่ปุ่น 5% ราคาของเราเฉลีย่ตั้งแต่ 9,000 กว่าบาทขึ้นไป” นายวุฒิไกรกล่าว
ส่วนแผนขยายต่างประเทศนั้นจะรุกหนักที่ตลาดยุโรป จากเดิมที่มีตลาดทั่วโลก แต่หลักๆ เดิมอยู่ที่มิดเดิลอีสต์ ซึ่งสัดส่วนรายได้มากว่า 70% จากตลาดส่งออกทั้งหมดของสตาร์แอร์ นอกจากนั้นก็มีที่ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย เป็นต้น
“ขณะที่ตลาดกลุ่มซีแอลเอ็มวีนั้นถือเป็นตลาดน่าสนใจ แต่บริษัทฯ จะให้ทางดีลเลอร์เป็นผู้ขยายตลาดเอง โดยจะเข้าไปช่วยสนับสนุนมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นตลาดใน ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเริ่มเข้าไปจำหน่ายบ้างแล้ว คาดว่าจะเริ่มเห็นผลชัดเจนในปีหน้า 2559” นายวุฒิไกรกล่าว
สำหรับภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศในไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากไทยเป็นเมืองร้อน การขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจรวมถึงการพัฒนาโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐในอนาคตอันใกล้ และการเปิดเออีซี เพื่อสร้างโอกาสในการขายในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เติบโตเช่นกัน โดยเทรนด์ที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ คือ แอร์ระบบอินเวอร์เตอร์ จะขยายความนิยมจากกลุ่มที่อยู่อาศัยไปยังกลุ่มพาณิชย์มากขึ้น โดยปี 2558 นี้ กลุ่มเครื่องปรับอากาศอินเวอร์เตอร์ มีการเติบโตสูงถึง 25% หรือมีมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท
สำหรับรายได้รวมปีนี้คาดว่าจะเติบโต 5% เหมือนปีที่แล้ว หรือมีรายได้ประมาณ 1,000 กว่าล้านบาทต้นๆ และมีเป้าหมายจะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 10% ภายในอีก 5 ปีจากนี้ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้มาจากโอดีเอ็ม 85% และโออีเอ็ม 15% และเป็นตลาดในประเทศสัดส่วน 70% ตลาดส่งออก 30% และหากแบ่งเป็นตลาดโครงการสัดส่วน 30% ตลาดทั่วไป 70%