xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.มั่นใจโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทยไม่ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กฟผ.” โต้กรีนพีซฯ กรณีกล่าวอ้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรว่า ไม่เป็นความจริง เพราะแม้แต่รายงานของ WHO เองก็ไม่ได้ระบุชัด กางแม่เมาะโชว์มาตรฐานดีกว่าของประเทศและคำแนะนำ WHO มั่นใจกระบี่ เทพา ดูแลสิ่งแวดล้อมดีเกินคาด


นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม ในฐานะโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงกรณีที่กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้จัดกิจกรรมรณรงค์คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งในอินโดนีเซีย เวียดนาม และล่าสุดที่ประเทศไทย ซึ่งได้เสนอรายงานเรื่อง “ต้นทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามกับสุขภาพของคนไทย” มีสาระสำคัญว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรไทยประมาณ 1,550 ราย/ปี ยืนยันว่าจากผลตรวจวัดปริมาณฝุ่นรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินของไทย เช่น แม่เมาะ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของประเทศและองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงไม่ใช่สาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรแน่นอน

“ข้อเท็จจริงรายงาน WHO เองก็ทำรายงานปี ค.ศ. 2011 ที่ชี้ให้เห็นผลกระทบสุขภาพจากฝุ่นควันเล็กกว่า 10 ไมครอน หรือ PM10 และฝุ่นควันขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 และแหล่งกำเนิดของฝุ่นควัน เช่น การใช้ถ่าน ถ่านหินในการหุงต้มในครัวเรือน ขนส่ง อุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินมีเทคโนโลยีกำจัดฝุ่นที่ทันสมัยสุดและผลตรวจวัดโรงไฟฟ้าถ่านหินเช่นแม่เมาะที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 10 สถานีล่าสุดดีกว่ามาตรฐานประเทศและดีกว่าค่าแนะนำของ WHO ที่กำหนด PM10 ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ PM2.5 ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร” นายสหรัฐกล่าว

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. เช่น โครงการโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา ได้กำหนดค่าควบคุมมลภาวะจากแหล่งกำเนิดหรือจากปล่องโรงไฟฟ้าดีกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยกำหนดไว้ในรายงาน EHIA ซึ่งโรงไฟฟ้าจะต้องปฏิบัติตามตลอดอายุโรงไฟฟ้า โดยค่าควบคุมจากปล่องโรงไฟฟ้าของทั้ง 2โครงการดีกว่าค่าควบคุมของประเทศไทยประมาณ 3 เท่าตัว และใกล้เคียงกับมาตรฐานของยุโรปและสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน

สำหรับเรื่องมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยด้อยกว่าเกณฑ์ของสหรัฐอเมริกา หรือยุโรปบางประเทศ โฆษก กฟผ.กล่าวว่า เป็นความจริงปัจจุบันมาตรฐานคุณภาพอากาศจากแหล่งกำเนิดของไทยยังด้อยกว่าบางประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ เนื่องจากเกณฑ์ควบคุมคุณภาพอากาศของประเทศไทยได้กำหนดใช้สำหรับอุตสาหกรรมทุกประเภท ซึ่งภาครัฐเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการบังคับใช้กับภาคส่วนต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น