xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาชนสงขลาร่วมเสวนา “ความจริง ความทุกข์ และทางออกหมอกควันอาเซียน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพโดย Boonlertlucky Insuwanno
 
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ความจริง ความทุกข์ และทางออกหมอกควันอาเซียน” ณ หอประวัติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยมีองค์กรร่วมจัดคือ กลุ่มปันรัก หอประวัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ หน่วยวิจัยประชาธิปไตยชุมชนเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยทักษิณ

โดยงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สาธารณะได้รับทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดหมอกควันจากประเทศอินโดนีเซีย ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และระดมสมองหาทางออก เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการต่อไปในระยะยาว
 
ภาพโดย Boonlertlucky Insuwanno
 
วิทยากรนำเสวนาคือ คุณธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซประจำประเทศไทย นพ.ศรายุทธ ลูเซียนกีเตอร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินรายการโดย คุณบัญชร วิเชียรศรี

โดยการเสวนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้ได้รับผลกระทบจากหมอกควันทั้งด้านสุขภาพ และการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน บุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลหาดใหญ่ กลุ่มสุขภาพต่างๆ คณาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ สถาบันสันติศึกษา และนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ นักวิชาการผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหมอกควันอินโดนีเซีย มหาวิทยาลัยทักษิณ และบุคคลทั่วไป ประมาณ 200 คน
 
ภาพโดย Boonlertlucky Insuwanno
 
ในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายบรรยากาศหม่นมัวของหมอกควันในจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง โดยเป็นภาพของช่างภาพมืออาชีพ และช่างภาพอาสาที่ส่งเข้ามาเพื่อมีส่วนร่วมในงานนี้ มีการติดตั้งคอมพิวเตอร์ให้ผู้เข้าร่วมอัดคลิปวิดีโอความทุกข์ และความเห็นของตนเองต่อสถานการณ์หมอกควัน โดยเริ่มเกริ่นนำก่อนการเสวนาด้วยคลิปวิดีโอความทุกข์ยากของผู้คนที่ต้องเผชิญต่อหมอกควัน

สำหรับข้อเสนอที่มีต่อกรณีปัญหาหมอกควันในครั้งนี้ มีข้อเสนอเบื้องต้นในด้านสังคมว่า หากต้องการเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับนานาชาติจริงๆ แล้ว เราอาจต้องเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงที่ตนเองก่อน ด้วยการสร้างนิสัยเคารพกฎกติกาของสังคม และเข้มงวดต่อการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการทำลายป่าในประเทศ รวมถึงรณรงค์ให้เกษตรกรเลิกเผาแปลงเกษตรหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่ยังคงมีอยู่ทุกปีในหลายพื้นที่ของประเทศไทยด้วย
 
ภาพโดย Boonlertlucky Insuwanno
 
ส่วนในด้านเศรษฐศาสตร์ ต้องรวบรวมข้อมูลความทุกข์ร้อน เช่น ผลกระทบต่อสุขภาพ สถิติความเจ็บป่วยของผู้คน ผลกระทบต่อการสัญจรทั้งภาคพื้นดิน และอากาศยาน ผลกระทบด้านการท่องเที่ยว การประกอบอาชีพประมงที่ไม่สามารถออกเรือได้ เนื่องจากมองไม่เห็นวัตถุที่เป็นหลักสังเกตในระยะไกลได้ เป็นต้น นำมาตีเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้การเรียกร้องมีน้ำหนักยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ผู้เข้าร่วมยังเสนอว่า การรวมตัวกันไปยื่นหนังสือที่สำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ยังเป็นอีกทางที่จะเสริมให้นานาชาติมองเห็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยุติปัญหาหมอกควันที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบอีกด้วย
 
ภาพโดย Boonlertlucky Insuwanno
 
คุณธารา บัวคำศรี ได้กล่าวปิดท้ายการเสวนาว่า “ประเทศบราซิลเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าการแก้ปัญหาแบบนี้ทำได้จริง จากการที่มีการทำลายป่าอย่างมากเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ใน 5-6 ปีที่ผ่านมา บราซิลสามารถลดการตัดป่าได้ ซึ่งถ้าผู้นำอินโดนีเซียตั้งใจทำจริงๆ เชื่อว่าทำได้”

และยังกล่าวถึงบทบาทของประเทศไทยที่ต้องชัดเจนว่า “ไทยมีบทบาทหลักในการร่วมก่อตั้งกลุ่มประเทศอาเซียน ไทยจึงน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ แต่ปัจจุบันประเทศไทยไม่พูดอะไรเลย อันที่จริงต้องพูดถึงเรื่องการรับผิดชอบของบริษัทต่างๆ ด้วยซ้ำไป
 
ภาพโดย Boonlertlucky Insuwanno
 
“นอกจากนั้น สังคมไทยมีจุดแข็งคือ จิตอาสา หารูปแบบที่สร้างสรรค์ อาจนำกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากภาคใต้ ไปคุยกับทางภาคเหนือ มองในเชิงรุก โดยทำอะไรให้เป็นตัวอย่าง เรื่องง่ายๆ ที่ทำได้มันมีเยอะ ต้องทำเสียงเหล่านี้ให้เป็นพลังแล้วโยงสู่ระดับประเทศต่อไป”

ซึ่งทางองค์กรร่วมจัดก็จะได้รวบรวมข้อมูลทั้งเนื้อหา ภาพถ่าย และคลิปวิดีโอต่างๆ ที่สำคัญคือ ข้อเสนอจากงานเสวนาในครั้งนี้มาปรึกษากับองค์กรที่สนใจ เพื่อหาแนวทางดำเนินการร่วมกันต่อไป
 
ภาพโดย Boonlertlucky Insuwanno
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น