เอเจนซี/ MGR online - ตลอดสัปดาห์นี้ กรุงปักกิ่งเมืองหลวงของประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก ต้องเผชิญมลพิษทางอากาศเข้าขั้นวิกฤตถึงขั้นมีกลิ่นเหม็นคลุ้งคล้ายถ่านหินกำลังไหม้ตลอดเวลา รัฐบาลตัดสินใจประกาศเตือนภัยฉุกเฉินระดับสูงสุด สีแดง ปิดเมืองปักกิ่งบางส่วน ห้ามไม่ให้รถส่วนตัวราว 2.2 ล้านคัน (ครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด 4.4 ล้านคัน) แล่นบนท้องถนน โรงเรียนในบางเขตถูกปิด ห้ามเขตก่อสร้างทำงาน กำชับประชาชนสวมหน้ากากกันมลพิษฯ
สื่อต่างประเทศรายงาน (9 ธ.ค.) อ้างแถลงการณ์ของรัฐบาลท้องถิ่น ระบุว่าการประกาศเตือนภัยระดับสูงสุดนี้ เพื่อปกป้องประชาชนในเมืองปักกิ่งราว 21 ล้านคน จากผลกระทบร้ายแรงทางสุขภาพ
รัฐบาลฯ ยังกำหนดข้อจำกัดการใช้รถยนต์ในกรุงปักกิ่ง จำกัดพาหนะขนาดใหญ่หลายประเภท อาทิ ยานพาหนะก่อสร้าง และจำกัดป้ายทะเบียนรถยนต์ทั่วไปที่จะวิ่งสัญจรได้ในแต่ละวัน ตลอดจนปิดโรงเรียน รวมถึงปรับสภาพการทำงานของพนักงานลูกจ้างกิจการต่างๆ เพื่อจะระงับกิจกรรมกลางแจ้งฯ
ในขณะที่จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งผู้แทนในการเจรจากำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เกือบ 200 ประเทศ เพื่อบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีการพูดถึงอย่างมากว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพมลพิษรุนแรงในเมืองใหญ่ๆ ของจีนหลายแห่งขณะนี้ ยิ่งเป็นรูปธรรมชัดเจนที่ทำให้ตระหนักถึงปัญหาการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหิน หลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ข้อมูลของสำนักงานพลังงานแห่งชาติจีน ระบุว่า ถ่านหินเป็นปัจจัยสำคัญของคาร์บอนฯ ในสภาพอากาศที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นเชื้อเพิลงฟอสซิลที่ใช้กันทั่วไป และราว 2 ใน 3 ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในจีนนั้น ก็ล้วนมาจากการเผาไหม้ถ่านหิน
เมื่อไม่นานมานี้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า จีนบริโภคถ่านหินสูงกว่าที่นักวิจัยฯ เคยเชื่อราวร้อยละ 17 และถ่านหินก็จะยังคงเป็นแหล่งพลังงานต่อไป แม้ล่าสุด จะมีการประกาศในเดือนนี้ว่า รัฐบาลจีนวางแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากกว่าครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2020
ข้อมูลอีไอเอ ระบุว่า การเผาไหม้พลังงานถ่านหินมีอัตราคงที่ไม่ลดลง จีนจะยังคงใช้พลังงานไฟฟ้าจากฟอสซิลและมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับผลกระทบมลพิษคาร์บอนฯ ที่เพิ่มขึ้นจากอินเดีย ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้งานถ่านหินมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานไฟฟ้าในประเทศ
นอกจากนั้น การเพิ่มขึ้นของรถยนต์ในจีน ก็เป็นปัจจัยมลพิษในเมืองต่างๆ เช่นกัน
ค่าดัชนีล่าสุดของคุณภาพอากาศในกรุงปักกิ่ง ซึ่งตรวจวัดโดยสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงปักกิ่งนั้น วัดได้ที่ระดับ 346 หน่วยไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งตามมาตรฐานค่าฯ ดังกล่าวนี้ หากเกินกว่าระดับ 100 หน่วยฯ ก็ถือว่าไม่ปลอดภัยกับกลุ่มอ่อนไหวต่อมลพิษ อาทิ เด็กเล็ก คนชรา และผู้มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ฯลฯ ส่วนระดับที่เกิน 150 หน่วย คือระดับที่ "ไม่ดีต่อสุขภาพ" หากเกิน 200 หน่วย ระบุว่า "เลวร้ายต่อสุขภาพ" สุดท้ายหากเกิน 300 หน่วยฯ จัดว่า "เป็นพิษขั้นรุนแรง" โดยค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก WHO นั้นได้จำกัดไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ภัยต่อสุขภาพของมลพิษในหมอกควันนั้น เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือที่มีหน่วยเป็น พีเอ็ม (Particle Matter หรือ PM) ซึ่งมีอยู่ 2 ขนาดคือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กว่า 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นละอองทีมีขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) อันเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก สามารถผ่านเข้าไปได้ลึกถึงระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากขนจมูกไม่สามารถที่จะกรองป้องกัน นอกจากนั้นยังสามารถผ่านเข้าไปในกระแสเลือด จึงมีอันตรายมากกว่าฝุ่นละอองขนาดใหญ่ โดยมีหลักฐานแน่ชัดว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทั้งในเมืองของประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศที่พัฒนาแล้ว
ผลกระทบของหมอกควันกับสุขภาพประชาชนนั้น มีตั้งแต่ โรคหัวใจ โรคปอด และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในผู้ป่วยโรคหัวใจ กับผู้สูงอายุ ขณะที่คนทั่วไปก็มีความเสี่ยงร้ายแรงกับระบบทางเดินหายใจ
หน่วยงาน AirNow.gov ในกรุงปักกิ่ง ระบุว่า หากเปรียบเทียบกันแล้ว มลพิษอากาศที่ร้ายแรงสุดในสหรัฐฯ นั้นเคยเกิดที่เมืองพอร์โทล่า มลรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ก็ยังอยู่ที่ระดับ 146 หน่วยฯ ต่ำกว่าครึ่งที่เป็นอยู่ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งประชาชนต้องทนอยู่กับหมอกพิษนี้นานปี โดยในช่วงที่จีนเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ฤดูร้อน 2008 รัฐบาลท้องถิ่นเอง ก็เคยออกมาตรการ ลดการปล่อยก๊าซในช่วงดังกล่าวฯ อันเคยหนักขนาดที่ว่า นักกีฬาโอลิมปิกจากหลายประเทศขอให้โค้ชปรับรูปแบบการฝึกซ้อม ให้เหมือนอยู่ในสภาพที่ต้องวิ่งตามหลังท่อไอเสียรถโดยสาร เพื่อเตรียมรับมือกับมลพิษในเมืองเจ้าภาพฯ
การศึกษาฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ชี้ให้เห็นว่าทารกที่เกิดในช่วงปีค.ศ. 2008 ซึ่งมีการควบคุมสภาพอากาศดีขึ้นนั้น มีน้ำหนักแรกเกิดโดยเฉลี่ยมากกว่าเด็กทารกที่เกิดก่อนหรือหลังจากปีนั้น จึงเชื่อว่าการเพิ่ม/ลดของมลพิษมีผลต่อสุขภาพของแม่และเด็กในครรภ์
งานวิจัยฯ อีกชิ้นในปีค.ศ. 2013 ยังคาดการณ์ว่า มลพิษอากาศเป็นเหตุให้ประชาชนจีนราว 1.2 ล้านคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ในทางกลับกัน มลพิษในเมืองกลับเป็นโอกาสแห่งความรุ่งเรืองของธุรกิจการผลิตหน้ากากอนามัย อาทิ บริษัท 3M ซึ่งผลิตหน้ากากฯ จำหน่ายติดอันดับขายดีมากที่สุด เนื่องจากประชาชนต่างต้องซื้อหามาป้องกันฯ เอาตัวรอดจากมลพิษอากาศที่ยังแก้ไขไม่ได้ มิหนำซ้ำ ล่าสุดยังหนักเข้าระดับสีแดง ซึ่งเป็นระดับร้ายแรงที่สุด และเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลประกาศเตือนในระดับนี้ หลังเริ่มกำหนดระบบเตือนภัยสีแดงเมื่อปี ค.ศ. 2013
ประชาชนหลายคนเมื่ออยู่ในสภาพนี้ ก็ได้แต่กล่าวว่า "นี่คงเป็นสภาพชีวิตใหม่ของชาวเมืองปักกิ่ง พวกเราต้องการความก้าวหน้า พัฒนาเศรษฐกิจ และนี่คือราคาที่เราต้องจ่าย"