xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลวิจัยล่าสุดที่ชี้ชัด “ต้นทุนชีวิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพรณรงค์ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ จากกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
โดย...กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้จนถึงปี พ.ศ. 2554 โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไทย เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรประมาณ 1,550 คนต่อปี อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอาจเพิ่มขึ้นถึง 5,300 คนต่อปี หากรัฐบาลไทยเดินหน้าขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในประเทศ (1)
 
รายงาน “ต้นทุนชีวิต : โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย” เป็นการศึกษาเกี่ยวกับอัตราการเจ็บป่วย และการตายที่เกี่ยวเนื่องกับโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย ข้อมูลดังกล่าวเป็นผลการคำนวณแบบจำลองบรรยากาศ (Atmospheric Modeling) ที่ดำเนินการโดยทีมวิจัย Atmospheric Chemistry Modeling ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่าแบบจำลองการเคลื่อนที่ของเคมีในบรรยากาศ (Atmospheric chemistry-transport model- GEOS-Chem) (2)
 
“นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเลือกแนวทางใดระหว่างการได้มาซึ่งไฟฟ้าจากการผลิตในแบบเดิม โดยแลกกับผลกระทบด้านสุขภาพ และการสูญเสียชีวิตของผู้คน หรือการก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัย” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
 
“ทุกๆ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่สร้างขึ้นใหม่คือความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนไทยที่เพิ่มขึ้น การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมาจากโรคเส้นเลือดอุดตัน หัวใจวาย มะเร็งปอด และโรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจหลอดเลือด และทางเดินหายใจต่างๆ ซึ่งผลกระทบนี้ยังรวมถึงการเสียชีวิตของประชากรวัยเด็ก” จริยา กล่าวเพิ่มเติม
 
เฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งถูกโฆษณาว่าเป็น “ถ่านหินสะอาด” มลพิษทางอากาศที่ปล่อยออกมาจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้มากถึง 1,800 คน ในช่วงระยะเวลา 40 ปี ของการดำเนินงาน และหากนำมลพิษทางอากาศที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี และเก็คโค่วัน ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดรวมเข้าไปด้วย จะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 14,000 คน ตลอดระยะเวลา 40 ปี ของการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า
 
“ตอนนี้จึงเป็นโอกาสของนายกรัฐมนตรีที่จะเลือกก้าวข้ามเทคโนโลยีสกปรก เช่นเดียวกันกับผู้นำโลกคนอื่นที่ได้ประกาศเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด และสิ่งนี้ส่งผลให้เกิดความมั่นคงต่อชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง” จริยา กล่าวเสริม
 
กรีนพีซ นำเสนอ “รายงานต้นทุนชีวิต : โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย” หลังจากที่รัฐมนตรีพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ประกาศเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ รวมกำลังผลิต 7.3 กิกะวัตต์ ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2558-2579 (PDP2015)
 
“มลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้เกิดฝุ่นละออง และโอโซนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผลวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่า การขยายการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินตามแผนที่วางไว้จะทำให้มลพิษทางอากาศเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้นทุนสุขภาพและชีวิตของผู้คนจากมลพิษถ่านหินควรจะต้องนำมาพิจารณาในการตัดสินใจถึงทางเลือกอนาคตพลังงานของไทย” แซนนอน คอบลิซ นักวิจัยทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าว
 
“การใช้ถ่านหินในระดับโลกมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรปนั้นลดลงอย่างรวดเร็ว กำลังผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นใหม่ในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป มาจากพลังงานหมุนเวียน ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในจีนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดมาจากแหล่งพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิล นับตั้งแต่ปลายปี 2554” นายลาวรี่ มิลลีเวียตา ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กรีนพีซสากล กล่าว
 
“ไทยในฐานะประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสมัชชาภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (COP21) ที่กรุงปารีส ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ สามารถมีบทบาทเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบพลังงาน และไปให้พ้นจากถ่านหิน และเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ เราเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินสร้างความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงด้านพลังงาน และจุดยืนในระดับสากล ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมุ่งมั่นสร้างระบบพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้เองในประเทศ ที่มีความมั่นคง ยั่งยืน ปลอดภัย และสะอาดอย่างจริงจังเสียที” จริยา กล่าวสรุป
 
งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ศึกษาถึงภาวะการเจ็บป่วย และภาวะการเสียชีวิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ฮาร์วาร์ด และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เผยแพร่รายงาน “ต้นทุนชีวิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซีย” โดยประเมินว่ามลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นผลให้มีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 28,300 คนต่อปี ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนอย่างเร่งด่วน และรายงานวิจัยนี้ยังทำขึ้นที่เวียดนาม โดยผลจากศึกษาระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นผลให้มีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในเวียดนามประมาณ 4,300 คนต่อปี
 
---------------------------------------------------
 
หมายเหตุ

[1] ข้อมูลดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการเจ็บป่วย และการตายที่เกี่ยวเนื่องต่อโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศจนถึงปี 2554
 
- ข้อมูลตัวเลขอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เพิ่มขึ้นเป็น 5,300 รายต่อปี ศึกษาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และที่มีการวางแผนเปิดดำเนินการใช้จริงทั้งหมดแล้ว โดยไม่รวมโครงการโรงไฟฟ้าเทพา เนื่องจากในขณะที่จัดทำรายงานยังไม่มีการประกาศเกี่ยวกับการสร้างโครงการโรงไฟฟ้าแห่งนี้
 
[2] GEOS-Chem คือ แบบจำลองการเคลื่อนที่ของเคมีในบรรยากาศ (http://acmg.seas.harvard.edu/geos/) ที่ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นำมาใช้เพื่อคำนวณความเข้มข้นของฝุ่นละออง (particular matter-PM) และโอโซน จากโรงไฟฟ้าถ่านหินบนฐานข้อมูลปัจจุบัน และแผนการอนาคต GEOS-Chem ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย และเป็นเครื่องมือที่สามารถเข้าถึงได้ เพื่อสร้างแบบจำลององค์ประกอบของบรรยากาศทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก แบบจำลองจะอธิบายถึงการเคลื่อนที่ และพัฒนาการทางเคมีของมลสารในบรรยากาศ และนำมาเชื่อมโยงการปล่อยมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดกับความเข้มข้นของมลพิษเหล่านั้นในกลุ่มผู้รับมลพิษ
 
- รายงาน ต้นทุนชีวิต : โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.greenpeace.or.th/Thailand-human-cost-of-coal-power/th.pdf
 
- รายงาน ต้นทุนชีวิตถ่านหิน อินโดนีเซีย สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/id/PageFiles/695938/full-report-human-cost-of-coal-power.pdf
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น