xs
xsm
sm
md
lg

แบนนกแอร์! โฆษณาสนับสนุน “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ผมถามจริงๆ เถอะ สายการบินนกแอร์ คุณซื่อบื้อจนไม่รู้เลยเหรอ?” ตัวแทน “เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” ทนไม่ไหว โพสต์ประจานพื้นที่โฆษณาในนิตยสารของสายการบินที่เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน บอกเลยนี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่เป็นปรากฏการณ์อำนาจทุนครอบงำสังคมผ่านสื่อ อ้างวาทกรรม “ถ่านหินสะอาด” เพื่อหนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และบรรทัดต่อจากนี้คือเบื้องลึกเบื้องหลังผลประโยชน์ทับซ้อนที่คนไทยต้องรู้!!




แบนจัดหนัก! “ถ่านหินสะอาด” ไม่มีจริง!!

(โฆษณาในนิตยสารที่ถูกประนามจนกลายเป็นประเด็นเดือด!)
“ประกาศแบนสายการบินนกแอร์ ทำไมสังคมไทยก้าวไม่ทันหายนะด้านสิ่งแวดล้อม? ผมสงสัยเกินจะทน! ว่าทั้งโลกประกาศว่าถ่านหินคือหายนะภัยของมนุษย์ จากนักวิทยาศาสตร์กว่า 2,000 คนในนาม IPCC อีกทั้งรายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้ชี้ชัดออกมา รูปธรรมการปฏิบัติทั่วโลกประกาศปิดและลดการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน พลังงานสะอาดเติบโตอย่างไม่เคยมีมาก่อน แล้วทำไมประเทศเรายังดักดานกับวาทกรรมถ่านหินสะอาด

ล่าสุดนิตยสารนกแอร์ ลงโฆษณาถ่านหินสะอาด ผมสงสัยว่าเวลาคนทำสื่อนี่เขาเอาแต่เงินเหรอ? ไม่คำนึงถึงความถูกต้องและการตรวจสอบข้อมูลเหรอ โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ใช่สินค้านะครับ มันคือสิ่งที่จะทำลายชีวิตคนและสิ่งแวดล้อม ผมถามจริงๆ เถอะ สายการบินนกแอร์ คุณซื่อบื้อจนไม่รู้เลยเหรอว่า ถ่านหินมันจะทำลายการท่องเที่ยวจนย่อยยับ และธุรกิจการบินได้ประโยชน์มหาศาลจากการเติบโตของการท่องเที่ยวในอันดามัน เคยสำนึกบ้างไหมสายการบินนกแอร์

ผมคิดว่าคนกระบี่ คนอันดามัน ลองตรึกตรองดูต่อท่าทีเช่นนี้ของนกแอร์ และผมคิดว่าต้องประกาศให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกรับทราบถึงจุดยืนของสายการบินนกแอร์ครั้งนี้ ส่วนตัวผมจะแบนสายการบินนี้ ไม่ใช้บริการ จนกว่าจะประกาศว่าไม่ได้เชียร์ถ่านหิน อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก นี่เป็นเพียงปรากฎการณ์หนึ่งของการครอบงำสังคมผ่านสื่อว่า ถ่านหินสะอาด จงแสดงอารยะขัดขืนต่อสิ่งที่จะทำให้เกิดหายนะด้านสิ่งแวดล้อมด้วยสิ่งที่เราทำได้เอง ก่อนจะสายเกินไป

ทั้งหมดนี้คือประกาศอย่างเป็นทางการเผยจุดยืนจาก ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เขาคือหนึ่งในแกนนำผู้ต่อสู้กับ “โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” และ “โครงการท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินกระบี่” มาเป็นเวลาถึง 4 ปี เพื่อให้ประชาชนได้ลุกขึ้นมาเปิดตาไปกับชุดข้อมูลอีกมิติหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลของทาง “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)” เจ้าของโครงการเผยแพร่ต่อสื่อเอาไว้อย่างลิบลับ และนี่คือคำสัมภาษณ์ที่เขาเคยให้ไว้ในรายการ “คมชัดลึก” ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เรื่องนี้กลายมาเป็นประเด็นร้อนที่น่าจับตามองระดับประเทศ!

“เราต้องเคลียร์ก่อนว่า เราไม่ได้ค้าน "โรงงานไฟฟ้า" แต่เราค้านเชื้อเพลิงที่ชื่อว่า "ถ่านหิน" เพราะฉะนั้น ถ้าต่อไปมีโรงไฟฟ้าแบบอื่นเข้าไปก็มาคุยกันได้ แล้วมาดูว่ามันจะเข้ามาสร้างความมั่นคงได้ยังไง แต่เชื้อเพลิงที่ชื่อว่าถ่านหิน มันถูกพิสูจน์มาแล้วทั้งโลกว่าไม่ใช่ สหประชาชาติก็ออกมายืนยันแล้ว นักวิทยาศาสตร์ถึง 2,000 คนก็ออกมายืนยัน บอกเลยว่าโลกเราจะไปไม่รอดแล้วนะ ถ้าเราไม่หยุดฟอสซิล และถ่านหินก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผมฝากถึงรัฐบาลแล้วกันนะครับ ฝากถึงนักวิชาการทุกคน เวลาพูดว่าถ่านหินไม่มีมลพิษ ช่วยไปเถียงมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดให้ชนะก่อน ไปเถียงงานวิจัยระดับโลกที่ออกมายืนยันเอาไว้ให้ได้เสียก่อน ค่อยเอาข้อมูลมาอ้าง”

ประกาศแบนสายการบินนกแอร์ ทำไมสังคมไทยก้าวไม่ทันหายนะด้านสิ่งแวดล้อม?ผมสงสัยเกินจะทน!ว่าทั้งโลกประกาศว่าถ่านหินคือหาย...

Posted by ประสิทธิ์ชัย หนูนวล on Saturday, September 5, 2015


งานวิจัยดังกล่าวชื่อ "Human Cost of Coal Power" ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดศึกษาผลกระทบเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีต่ออินโดนีเซีย ช่วยชี้ชัดให้เห็นไปเลยว่าเทคโนโลยีถ่านหินที่ใช้ ไม่ใช่เทคโนโลยีที่จะทำให้เป็น "Zero Weight" หรือ "ไร้มลพิษโดยสิ้นเชิง" อย่างที่นักวิชาการหลายๆ แห่งพยายามกล่าวอ้าง ซึ่งหมายความว่าไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ขนาดไหน ก็ยังก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศอยู่ดี

ข้อมูลระบุชัดเจนว่า โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถทำให้คนในอินโดนีเซียต้องตายก่อนวัยอันควร อย่างน้อย 6,500 คนต่อปี ส่วนถ้าวัดจากจำนวนโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน 1,000 เมกะวัตต์ จะทำให้ต้องสูญเสียประชากรอย่างน้อยปีละ 600 คน ทั้งยังประเมินล่วงหน้าเอาไว้ด้วยว่า ถ้ายังคงเดินหน้าเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น เรื่องมลภาวะทางอากาศจะเพิ่มขึ้น และจะส่งผลให้มีประชากรต้องตายก่อนวัยอันควรถึง 7,100 คนต่อปี ซึ่งตัวเลขทั้งหมดนี้คือประชากรทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ประชากรที่อยู่อาศัยละแวกโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากมลภาวะทางอากาศจากสาเหตุนี้ ไม่ได้ลอยอยู่แค่บริเวณโรงไฟฟ้าเท่านั้น แต่มันจะไปตามทิศทางลม และสร้างความเสียหายด้านค่าใช้จ่ายต่อชีวิตของประชากรในระยะยาว

(ขอบคุณภาพและข้อมูล>>> www.greenpeace.org)

แม้แต่ รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร นักชีววิทยาผู้รู้จริงเรื่องมลพิษ ยังเคยช่วยยืนยันด้วยตำแหน่งและชื่อเสียงเอาไว้เลยว่า ข้อเสียของ “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ที่กำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ไม่มียกเมฆแน่นอน!

ที่เขาชอบอ้างคำว่า "เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด" เป็นเพราะเขาไปมองตัวแปรอยู่แค่ 3 ตัวคือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ไนโตรเจนออกไซด์ และฝุ่น ซึ่งอ้างว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะเอามาใช้ มันดักได้ แต่ดักไม่ได้ทั้งหมดหรอกค่ะ และที่สำคัญ เขาไม่ยอมพูดถึงตัวที่จะก่อให้เกิดการปนเปื้อนอย่างหนักคือ สารก่อมะเร็ง สารหนู แคดเมียม นิกเกิล และตัวที่สำคัญที่ทั่วโลกกลัวและลดการใช้คือ "สารปรอท" เนื่องจากมันสะสมในห่วงโซ่อาหารโดยเฉพาะในปลา ถ้าผู้หญิงที่ตั้งท้องไปกิน ลูกจะเกิดมาปัญญาอ่อน ซึ่งตรงนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกาลดการใช้ถ่านหิน

(ขอบคุณภาพและข้อมูล>>> www.greenpeace.org)

เราต้องเข้าใจนะคะว่าสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย หรือจีน ที่เขามีโรงงานไฟฟ้าถ่านหินเพราะเขามีถ่านหินเอง แต่ประเทศไทยตอนนี้เราไม่ได้มีถ่านหินเองนะคะ และที่บอกว่าการใช้ถ่านหินมันทำให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน ถามว่ามันจะไปมั่นคงได้ยังไง เรื่องผลกระทบก็น่าเป็นห่วง คำนวณเอาไว้ว่า ถ้าเขาจะเผาถ่านหินปริมาณ 360 ตัน สารที่ปนเปื้อนอยู่ในถ่านหินต่อวัน จะมีตะกั่วอยู่ 43 กก. มีสารหนู 10 กก. แคดเมียม 1 กก. ปรอท 0.22 กก. จะเกิดขี้เถ้า 169 ตัน นี่คือข้อมูลจริงในรายงานของเขา และนี่คือค่าต่ำสุดของการปนเปื้อน

เรื่องสถานที่ตั้งโรงงานก็เลือกผิดมาตั้งแต่แรก คิดดูว่ามาตั้งท่าเทียบเรือในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่ขึ้นทะเบียนอย่างใน จ.กระบี่ แบบนี้ พื้นที่ที่มีความสำคัญระดับประเทศ ตั้งในพื้นที่ที่มีมูลค่า 60,000 ล้านบาทต่อปี คำถามคือขายไฟปีหนึ่งได้หรือเปล่าจำนวนเงินเท่านี้ และยังเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่อาศัย เป็นพื้นที่ที่มีสึนามิเข้า และเอาถ่านหินขึ้น มีอาคารอยู่ริมฝั่ง สึนามิเข้ามาก็กวาดลงทะเล ดิฉันคิดว่าเป็นการเลือกพื้นที่ไม่เหมาะสม ไปเลือกที่ใหม่ค่ะ ไม่ใช่มาเลือกพื้นที่แบบนี้”




ผลประโยชน์ทับซ้อน! กฟผ.-ถ่านหิน

(ลงชื่อร่วมต้าน "โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่">>> www.change.org/krabinocoal)
โฆษณาที่เล่าความจริงเพียงด้านเดียวจากฝั่ง กฟผ.ในสื่อโฆษณาต่างๆ ที่เห็นอยู่ในตอนนี้ จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ให้ผลดีและเสียไปพร้อมๆ กัน

“มอง 2 ด้านค่ะ เพราะเวลาข้อมูลของภาครัฐออกมามากขึ้น ด้านที่ดีคือทำให้คนบางส่วนตื่นตัวที่จะหาความจริง ในสิ่งที่เขาบอกว่า ไฟฟ้าในภาคใต้ไม่พอใช้จริงหรือเปล่า? การไฟฟ้าสำรองของประเทศมันเหลือไม่กี่เปอร์เซ็นต์แล้ว จริงหรือเปล่า? ถ่านหินคือคำตอบสุดท้าย จริงหรือเปล่า? และเทคโนโลยีพลังงานถ่านหิน สะอาดจริงหรือเปล่า? จากคนที่ไม่เคยให้ความสนใจเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินก็เริ่มหันมาสนใจมากขึ้น ค้นหาข้อมูลเองก็มี ทำให้เรามองเห็นว่ามันมีพัฒนาการ เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของการปฏิรูปอย่างแท้จริง ประชาชนทุกคนลุกขึ้นมาสนใจและร่วมจัดการกับเรื่องพลังงานกัน


(ขอบคุณภาพและข้อมูล>>> www.greenpeace.org)
ประเด็นเรื่องการโฆษณาว่า "ถ่านหินสะอาด" ในสื่อต่างๆ มีมากขึ้น มีการซื้อโฆษณาทางโทรทัศน์ ล่าสุด ก็คือนิตยสารการบินที่บินตรงลงกระบี่ จุดนี้เราก็มองว่าเงินโฆษณาตรงนี้มาจากเงินของประชาชน เพราะ กฟผ.คือรัฐวิสาหกิจ รายได้ของ กฟผ.มาจากค่า FT และค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้น ดังนั้น อาจจะถึงเวลาที่จะต้องมีการตรวจสอบการใช้งบประมาณของทาง กฟผ.เกิดขึ้นแล้ว โครงการของ กฟผ. ไม่ว่าจะเป็นแม่เมาะ หรือพื้นที่อื่นที่ลงไปศึกษาความเป็นไปได้ในอีกหลายจังหวัดว่าจะใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ เงินในการทำ CSR ทั้งหมดเหล่านี้มันคือเงินของประชาชน และการโฆษณาที่มันบิดเบือนความจริงก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกันที่ต้องได้รับการตรวจสอบ

ถ้ามานั่งวิเคราะห์ดูจริงๆ จะเห็นว่ากำลังสำรองด้านพลังงานในอีก 10 ปีข้างหน้าของประเทศของเรายังมีเพียงพอ ไม่ได้น่าเป็นห่วงอย่างที่ฝั่งนั้นกล่าวอ้างเอาไว้ มันอยู่สูงเกินกว่ามาตรฐานที่ทั่วโลกเขาใช้กันด้วยซ้ำค่ะ จากปกติจะเผื่อไว้ 15 เปอร์เซ็นต์ แต่เรากำหนดไว้ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้ามองจากตัวเลขนี้หมายความว่าในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ เราไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเลย เพราะฉะนั้น โรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่กระบี่หรือที่ไหนก็ตาม ก็ไม่มีความจำเป็นทั้งนั้น


ทุกอย่างมันคือการทับซ้อนของผลประโยชน์เรื่อง "ถ่านหิน" มันคือปัญหาฝ่ายการพลังงานของประเทศไทยที่ยังคงมีปัญหาอยู่ เนื่องจากประเทศไทยเป็นคนลงทุนสัมปทานถ่านหินทั้งในอินโดนีเซียและในออสเตรเลีย แผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ากว่า 7,300 เมกะวัตต์ที่จะเอามาใช้ทั้งหมดจำนวนหลายล้านตัน ก็จะนำเข้ามาจากอินโดนีเซียและออสเตรเลียทั้งหมด

เพราะฉะนั้น คนที่ได้ประโยชน์จากตรงนี้ ส่วนแรกคือ "คนที่อนุมัติโครงการ" ส่วนที่สองคือ "คนที่ไปเปิดบริษัทถ่านหิน" ซึ่งเขาเปิดไว้เรียบร้อยแล้ว แค่ประเทศไทยอนุมัติให้โครงการถ่านหินผ่าน ก็พร้อมจะกดถ่านหินให้เข้ามาตามสัญญาระยะยาวอย่างน้อย 25 ปี ส่วนที่สามที่จะได้ประโยชน์คือ "คนที่ขายเทคโนโลยีถ่านหิน" ซึ่งเป็นรายที่ประมูลชนะที่แม่เมาะเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้น เราสามารถชี้ชัดได้เลยว่าอุตสาหกรรมถ่านหินมันมีความเกี่ยวพันและมีผลประโยชน์ทับซ้อน คำถามของทาง "เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน" เลยกลายมาเป็นประเด็นใหญ่ ทำให้สังคมลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า อ้าว! แล้วทำไมต้องเลือก "ถ่านหิน" มาเป็นตัวแก้ปัญหาเรื่องพลังงาน ทำไมคนที่มีอำนาจอยู่ในเชิงนโยบายพลังงานถึงได้พูดคำเดียวกันหมดเลยว่า ถ่านหินคือคำตอบสุดท้าย"

(ขอบคุณภาพและข้อมูล>>> www.greenpeace.org)

ขณะนี้ ไม่ได้มีเพียงพื้นที่ จ.กระบี่ เท่านั้นที่กำลังอยู่ในความเสี่ยงในการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่เกิดขึ้นแล้วที่มาบตาพุด จ.ระยอง และโรงงานใหม่ที่กำลังจะขยาย ที่แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งเพิ่งเซ็นสัญญาอนุมัติการสร้างไปเมื่อช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของกลุ่ม “เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” จึงเป็นก้าวสำคัญที่น่าจับตามอง ขณะนี้ในพื้นที่กระบี่กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนจัดตั้งคณะกรรมการจากทั้ง 3 ฝ่าย โดยมาจากภาครัฐ, ตัวแทนของผู้ทรงคุณวุฒิหรือนักวิชาการ และภาคประชาชน เพื่อหาหนทางไปสู่ข้อเรียกร้องที่กำหนดไว้ว่า "ภายใน 3 ปี จะทำให้กระบี่กลายเป็นจังหวัดพลังงานหมุนเวียนร้อยเปอร์เซ็นต์" ซึ่งถ้าทำสำเร็จ น่าจะช่วยงัดข้อกับระบบและช่วยเปลี่ยนโมเดลด้านพลังงานในประเทศไทยไปตลอดกาล


“อยากให้จับตากระบวนการเคลื่อนของโรงไฟฟ้ากระบี่ให้ดีๆ ค่ะ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กำลังจะเป็นสิ่งหนึ่งที่กำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศไทยเหมือนกัน เพราะมันจะมีผลต่อโมเดลโรงไฟฟ้าถ่านหินอื่นๆ ทั้งหมดที่กำลังจะเกิดขึ้นตามแผนของทางรัฐบาล

เราเชื่อมั่นเสมอว่าถ้าเรายืนหยัดในเรื่องการต่อสู้ในเรื่องพลังงานที่แท้จริง นั่นหมายความว่ามันมีความเป็นธรรม มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เชื่อว่าถ้าเราสู้บนพื้นฐานนี้ก็ไม่น่าที่จะแพ้ แต่อาจจะต้องลำบากหน่อยค่ะ เป็นธรรมดาที่ต้องต่อสู้กันมาเป็นสิบๆ ปี การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศไทย และประโยชน์ก็ไม่ได้อยู่ที่ใคร จะอยู่ที่ประชาชนและประเทศของเราเอง แต่อาจจะทำให้กลุ่มของอุตสาหกรรมถ่านหินและข้าราชการบางกลุ่มที่ต้องการเอาถ่านหินเข้ามา เกิดการเสียผลประโยชน์

ประเด็นคือภาครัฐพยายามดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งที่ประเทศเรามีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์, ลม และพลังงานน้ำ ฯลฯ อย่างมีศักยภาพ แต่นโยบายในการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยมีปัญหา เรากำหนดเป็นโควตาที่น้อยเกินไปในแต่ละปี เช่น กำหนดไว้ว่าปีนี้จะรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์แค่ 3,000 นะ ปีหน้าจะรับซื้อแค่ 2,000 เพราะฉะนั้น คนที่มาลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ต่อให้ผลิตได้มากแค่ไหนก็ไม่สามารถส่งสู่สายส่งได้


อีกปัญหาหนึ่งที่ยังคงเผชิญอยู่คือเรื่องสายส่งเต็ม โดยเฉพาะภาคใต้และพื้นที่กระบี่ จึงมีข้อเรียกร้องจากคนในพื้นที่ออกมาว่า แทนที่จะเอาเงินที่จะลงทุนถ่านหินขนมาจากอินโดนีเซียเพื่อจะเปิดประมูลขายโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 50,000 ล้านบาท ทำไมถึงไม่เอาเงินทุนตรงนั้นมาพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ในเมื่อกระบี่ประกาศตัวแล้วว่าจะเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่จะเดินหน้าพลังงานหมุนเวียนร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งตอนนี้เขาก็ใช้ในจังหวัดตัวเองมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์แล้ว และมั่นใจว่าจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าที่ผลิตจากถ่านหินได้หลายพันเมกะวัตต์ด้วย ต้นทุนก็ต่ำกว่า และมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพน้อยกว่าโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหินแน่นอน


(ขอบคุณภาพและข้อมูล>>> www.greenpeace.org)
ตอนแรก โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะตั้งขึ้น จะสร้างขึ้นที่พื้นที่ ต.ปกาสัย จ.กระบี่ หลังจากนั้นทาง กฟผ.ก็จ้างบริษัทหนึ่ง ศึกษา "รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)" จะสร้างท่าเทียบที่สะพานช้าง แต่เปลี่ยนมาเป็นท่าเทียบเรือที่บ้านคลองรั้วแทน และเปลี่ยนบริษัทที่ศึกษารายงานด้วย เลยทำให้ตัวท่าเทียบได้รับการศึกษาแค่ระดับ "รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)" ซึ่งไม่ได้ศึกษาเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพด้วย

พอแยกการพิจารณาตัว โรงไฟฟ้าถ่านหิน กับตัว ท่าเทียบเรือถ่านหิน ออกจากกัน มันเลยทำให้ผลออกมาว่าโครงการไหนจะผ่านก่อนก็ได้ ซึ่งตามหลักการ หลักธรรมาภิบาลและความถูกต้องของการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แล้ว มันจะต้องพิจารณาไปด้วยกัน เพราะถ้าไม่มีท่าเทียบเรือ โรงไฟฟ้าก็ขึ้นไม่ได้ ทุกอย่างมันต้องมองภาพรวม ให้เห็นผลกระทบทั้งหมด แต่พอประเมินแยกโครงการในตอนนี้เลยกลายเป็นว่า ทุกอย่างที่ประเมินผลกระทบทางลบออกมามันก็ต่ำกว่าความเป็นจริงทั้งหมด

(ขอบคุณภาพและข้อมูล>>> www.greenpeace.org)

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
ขอบคุณข้อมูลและภาพ: www.greenpeace.org, www.protectkrabi.org และ www.change.org/krabinocoal

ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- ประกาศแบน “นกแอร์” โฆษณาอ้าง “ถ่านหินสะอาด” ชี้ฉุดสังคมไทยลงต่ำ ก้าวไม่ทันหายนะสิ่งแวดล้อม





มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...

Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015

รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น