ศูนย์ข่าวภาคใต้ - กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิพากษ์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เดินหน้าเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของประชาชน และกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) ที่ยังเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง
การเปิดประมูลถูกเลื่อนไปเป็นวันที่ 5 สิงหาคม จากกำหนดการเดิมคือ วันที่ 22 กรกฎาคม โดยอ้างว่าเพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 870 เมกะวัตต์ มีเวลาในการจัดเตรียมเอกสารเพิ่มมากขึ้น
“หลักฐานเชิงประจักษ์ระบุชัดเจนว่า ในกระบวนการจัดทำรายงานอีเอชไอเอ เสียงของประชาชนในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการถูกปิดกั้น เมินเฉย และถูกกีดกัน” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
“การเปิดประมูลของ กฟฝ.ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงต่อหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ กฟผ. ในฐานะเป็นหน่วยงานด้านไฟฟ้าระดับชาติ [1] ประชาชนฝ่ายคัดค้านโครงการถูกกลั่นแกล้ง ข่มขู่ และคุกคามในกระบวนการ และเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
นอกจากนี้ รายงานอีเอชไอเอของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ยังไม่ได้วิเคราะห์ถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมิใช่เศรษฐกิจของพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ วิถีชีวิตของชุมชน และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพาอาศัยระบบนิเวศที่มีลักษณะพิเศษนี้ และชัดเจนว่าการที่ กฟผ. ละเลยประเด็นเหล่านี้ก็เพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่อนุมัติได้เร็วขึ้น”
ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา กฟผ.ได้พยายามผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าฟ้าถ่านหิน และท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ เสียงคัดค้านของชุมชนถูกกีดกันในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ในขณะที่รายงานอีเอชไอเอ/อีไอเอ ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
“กฟผ.ไม่มีความจริงใจ กฟผ.จะผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทยได้อย่างไร ในขณะที่กำลังเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำลังตกยุค สกปรก และทำลายความสมดุลของสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางพลังงาน และความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนมิใช่การนำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้”
“กระบี่ และประเทศไทยต้องการการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน การศึกษา [2] ระบุว่าเราสามารถผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนแบบต่างๆ ได้เต็มร้อย ภายใน 3 ปีข้างหน้าที่จังหวัดกระบี่ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน” จริยา กล่าวเพิ่มเติม
กรีนพีซสนับสนุนข้อเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินที่มีต่อรัฐบาล
ยุติกระบวนการพิจารณาอนุมัติรายงาน EHIA/EIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือถ่านหินที่กระบี่ หยุดการเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอของเครือข่ายประเด็นศักยภาพพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อยที่จังหวัดกระบี่ที่ประกอบด้วยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
*หมายเหตุ
[1] การกำกับดูแลกิจการที่ดีของ กฟผ.รวมถึงความโปร่งใส และการมีส่วนร่วม อ่านได้ที่นี่ http://www.egat.co.th/en/index.php?option=com_content&view=article&layout=edit&id=130
[2] รายงานกระบี่บนทางแพร่ง : ถ่านหินสกปรก หรือระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด :
http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/Krabi-at-the-Crossroads/