xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ถกผู้นำเอเปกเดือน พ.ย.นี้ ดันสมาชิกเปิดเสรีให้ลึก-กว้างกว่าเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” บินร่วมประชุมผู้นำเอเปก หารือผลักดันเปิดเสรีเอเปกให้มีความคืบหน้า โดยศึกษาต่อยอดจากการเปิดเสรีในกรอบอาเซียน อาเซียนกับคู่เจรจา และ TPP หวังให้ค้าเสรีเอเปกมีความกว้างและลึกกว่า ไทยเตรียมดันเอเปกให้ความสำคัญต่อ SMEs พร้อมรับเป็นเจ้าภาพจัดเวิร์กชอปช่วย SMEs สาขาเกษตรผลิตสินค้าป้อนตลาดโลก

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นหัวหน้าคณะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 23 ร่วมกับสมาชิกเอเปกอีก 20 เขตเศรษฐกิจ ที่ฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2558 โดยจะมีการหารือการผลักดันเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ให้มีความคืบหน้ามากขึ้น หลังจากที่เอเปกได้เริ่มหารือมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งขณะนี้สมาชิกเอเปกอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อต่อยอดความสำเร็จของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในภูมิภาค ทั้งอาเซียน อาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)

“สมาชิกเอเปกจะมีการหารือการเปิดเสรีในกลุ่มต่างๆ ว่ามีการเปิดเสรีกันอย่างไร และจะนำข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การเจรจาเปิดเสรีในกรอบ FTAAP ให้มีผลโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าเอเปกจะสามารถนำเสนอผลการศึกษาได้ภายในปีหน้า เพราะหากเจรจากันสำเร็จจะทำให้ FTAAP เป็นความตกลงการเปิดเสรีที่มีขอบเขตกว้างขวางและมีมาตรฐานสูงมาก”

ทั้งนี้ ในส่วนของไทยได้รับทราบประเด็นที่ต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม ปรับปรุงกฎระเบียบ รวมทั้งเสนอแนะและเข้าร่วมโครงการเสริมสร้างศักยภาพในการเปิดเสรีด้านต่างๆ เพื่อรองรับแนวโน้มการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจทั้งในเชิงลึกและกว้างแล้ว

นางอภิรดีกล่าวว่า ในการประชุมเอเปกปีนี้ไทยได้สนับสนุนแผนงานผลักดันการเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดโลกของ SMEs อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูลการค้า แหล่งเงินทุน เทคโนโลยี และเห็นว่าการสนับสนุน SMEs ให้ใช้โอกาสของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ในการทำธุรกิจมีความจำเป็นมาก ซึ่งข้อเสนอของไทยจะถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งในข้อเสนอของฟิลิปปินส์เรื่องแผนปฏิบัติการโบราไคย์เพื่อนำวิสาหกิจรายย่อย ขนาดย่อมและขนาดกลาง (MSMEs) เข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดโลก (APEC Implementation Plan for Boracay Action Agenda to Globalize MSMEs)

ขณะเดียวกัน ไทยได้อาสาทำการศึกษาเรื่องการนำ SMEs ในสาขาเกษตรเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตอาหารของโลก เพราะไทยมีความเชี่ยวชาญและพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับสมาชิกเอเปก โดยผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าอุปสรรคสำคัญสำหรับ SMEs คือ การขาดองค์ความรู้ที่สำคัญที่จำเป็น การขาดความรู้เกี่ยวกับมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้า ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่พอเพียง โดยไทยจะจัดทำการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางธุรกิจและสร้างเครือข่ายภายในอุตสาหกรรมดังกล่าวกับสมาชิกเอเปกในปี 2559

“การดำเนินโครงการนี้ SMEs และเกษตรกรของไทยจะได้รับการเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และรายได้ และเสริมสร้างการพัฒนาในชนบท เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึงในสาขาการเกษตร” นางอภิรดีกล่าว

นางอภิรดีกล่าวว่า ฟิลิปปินส์ยังได้ผลักดันเรื่องการค้าบริการให้เป็นประเด็นสำคัญในการประชุมปีนี้ โดยออกมาในรูปแบบของกรอบความร่วมมือด้านบริการของเอเปก (APEC Service Cooperation Framework : ASCF) ซึ่งจะระบุทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ด้านการลดข้อจำกัดการค้าและการลงทุนภาคบริการ เพื่อให้เป็นผลงานสำคัญของเอเปกในปี 2558

ปัจจุบันเอเปกให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้านการปฏิรูปภาคบริการ และต้องการกระตุ้นให้สมาชิกเอเปกจัดทำแผนงานปฏิรูปฝ่ายเดียว (Unilateral Reforms) เพื่อปรับปรุงการเปิดตลาดการค้าบริการ โดยในส่วนของไทยได้ให้ความสำคัญต่อภาคบริการและการสร้างนวัตกรรม โดยกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการค้าบริการของไทย เพื่อให้มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น