xs
xsm
sm
md
lg

ม.เกษตรกวักมือเรียก “เอสเอ็มอี” ธุรกิจมีปัญหาเข้ามาปรึกษาฟรี!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้อำนวยการหลักสูตรวิชาชีพที่ปรึกษาธุรกิจ (วปธ.) ม.เกษตร เปิดใจ ปัญหา SMEs ไทยไปไม่ถึงดวงดาว เพราะขาดโค้ชมาช่วยแนะเรื่องลดต้นทุน สร้างธุรกิจให้มีกำไร รัฐบาลเน้นปั้นที่ปรึกษาเชิงลึกเข้าช่วย SMEs สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันตอบสนองเอสเอ็มอีวาระแห่งชาติ โดย ม.เกษตรฯ รับภารกิจสร้างหลักสูตร-ผลิตวิชาชีพที่ปรึกษาธุรกิจป้อนเข้าสู่ตลาด ขณะเดียวกันอาชีพ “รับหลักประกันธุรกิจ” ตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ จะเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สำคัญ ชี้ 2 วิชาชีพจับมือช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีได้แน่ แนะเอสเอ็มอีมีปัญหาไปใช้บริการที่ปรึกษาได้ฟรี!

“อาชีพที่ปรึกษาธุรกิจ” และ “รับหลักประกันธุรกิจ” นับว่าเป็นอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เกิดขึ้นมาจากการที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายให้เอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ท่ามกลางปัญหาที่ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องเผชิญทั้งในเรื่องเงินทุน การตลาด การผลิต การบริหารจัดการ ฯลฯ ถึงขั้นปิดกิจการหายจากตลาดไปไม่น้อยกว่า 1 ล้านราย

ตรงนี้จึงเป็นที่มาให้เกิด 2 อาชีพที่น่าสนใจ คืออาชีพที่ปรึกษาธุรกิจที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในสถานประกอบการและที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญแนะนำเชิงลึกเฉพาะด้านให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงอาชีพรับหลักประกันธุรกิจที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ 4 กรกฎาคมนี้เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น โดยกฎหมายฉบับนี้ทำให้มีหลักประกันเพิ่มขึ้น เช่นสัญญาเช่า สินค้าคงคลัง สิทธิบัตร นำมาเป็นหลักประกันตามกฎหมายได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงมีการคลอดหลักสูตร 2 อาชีพดังกล่าวขึ้นมาช่วยขับเคลื่อนเอสเอ็มอีต่อไป
 ดร.วิริยะ ลิขิตวงศ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิชาชีพที่ปรึกษาธุรกิจ (วปธ.) เพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย
ดร.วิริยะ ลิขิตวงศ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิชาชีพที่ปรึกษาธุรกิจ (วปธ.) เพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ที่ปรึกษาธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันธุรกิจ SMEs เป็นอย่างมาก เพราะหากประเมินจากตัวเลขของจำนวน SMEs ในประเทศไทยที่มีจำนวน 2.7 ล้านรายนั้น จะเห็นได้ว่าที่มีการเติบโตและแข็งแรงเพียง 7 แสนราย สำหรับ 2 ล้านรายที่เหลือประเมินว่าจะยังคงเปิดกิจการอยู่มีเพียง 1 ล้านรายเท่านั้น

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการบ้านเราผลิตสินค้าออกมาแต่ไม่สามารถแจ้งเกิดได้ มีอยู่เป็นจำนวนมาก เหตุผลหลักเป็นเพราะขาดคำแนะนำ เทคนิคดีๆต่างๆ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการทำธุรกิจนั้นต้องการพี่เลี้ยงหรือโค้ช ที่จะให้คำแนะนำทั้งการเพิ่มยอดขาย การสร้างแบรนด์เพื่อไปสู่เป้าหมายธุรกิจตามที่คาดหวัง

ปั้นหลักสูตรที่ปรึกษาช่วย SMEs

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีบุคลากรทางด้านวิชาชีพที่ปรึกษา แต่ก็ยังถือว่ามีอัตราเฉลี่ยต่อผู้ประกอบธุรกิจ SMEs น้อยมาก จึงยังคงเป็นอาชีพที่มีการขาดแคลนสูง โดยเฉพาะในสาย “การตลาด” หรือ “การผลิต” ซึ่งตามสถิติการขึ้นทะเบียนของที่ปรึกษาทางธุรกิจปัจจุบัน มีเพียง 5,000 - 6,000 คน และร้อยละ 50 มีงานที่ปรึกษาต่อเนื่องและเต็มกำลังความสามารถที่ทำได้ ขณะที่อีกร้อยละ 50 ติดต่อไม่ได้ เพราะอาจมีการเปลี่ยนอาชีพ หรือเพียงแต่ขึ้นทะเบียนทิ้งไว้ ทำให้สัดส่วนระหว่างดีมานด์ไซส์กับซัปพลายไม่เพียงพอ (2,500/1,000,000) คิดเป็นสัดส่วน 0.25%

อาชีพที่ปรึกษาธุรกิจจึงมีความจำเป็นมาก เพราะมีส่วนช่วยในการวางแผนทางธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

“ประเภทที่ปรึกษาธุรกิจที่ตลาดต้องการมากที่สุด คือ ที่ปรึกษาเรื่องระบบหลังบ้าน ที่ช่วยด้าน “การลดต้นทุน และเพิ่มยอดขาย”

สำหรับการลดต้นทุน ก็จะเป็นทั้งในการผลิต การบริหารจัดการ บุคลากร หรือแม้แต่ “การตรวจสอบการใช้พลังงาน” ซึ่งทุกปัจจัยมีผลต่อการดำเนินธุรกิจทั้งระบบ ส่วนที่ปรึกษาการเพิ่มยอดขาย นั่นคือทำอย่างไรให้ขายได้ดี การทำโปรโมชัน การรีแบรนด์ การออกแบรนด์ลูก เป็นต้น

ดร.วิริยะ บอกว่า จากนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ SMEs ขนาดกลางและเล็ก โอทอปหรือนักธุรกิจโดยทั่วไป จะไม่โดดเดี่ยว เพราะหลักสูตรวิชาชีพที่ปรึกษาธุรกิจ (วปธ.) เพื่อการพัฒนาวิสาหกิจไทย ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สร้างขึ้นมาจะเป็นหลักสูตรที่สร้างบุคลากรที่ปรึกษาธุรกิจ เพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการทั่วประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งที่ปรึกษาทางธุรกิจมีความชำนาญในหลายๆ แขนงที่เป็นที่ต้องการ

โดยแบ่งออกเป็น 5 หมวดใหญ่คือ ที่ปรึกษาทางการตลาด การเงิน การผลิต การบริหารจัดการ และทั่วไป สามารถให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการธุรกิจ ทั้งในเรื่องของการเขียนแผนธุรกิจ และเรื่องการดำเนินธุรกิจในแต่ละปี อาจจะเป็นแผนระยะสั้น หรือระยะยาว

อย่างไรก็ดีหลักสูตร วปธ. ได้เปิดดำเนินการเมื่อต้นปี 2559 ถึงขณะนี้มีด้วยกัน 4 รุ่น แต่ละรุ่นจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ซึ่งทุกรุ่นยังอยู่ในกระบวนการเรียนทั้งทางทฤษฎี และลงพื้นที่ปฏิบัติจริง ที่พร้อมจะส่งที่ปรึกษา วปธ.เข้าตลาดเพื่อทำงานในองค์กรธุรกิจต่างๆ สายงานที่ขาดแคลนและเป็นที่ต้องการมากที่สุดในวันนี้ คือ เรื่องที่เกี่ยวกับการลดต้นทุนทั้งหมด ตั้งแต่การใช้พลังงาน การวางแผนเรื่องการผลิต การบริหารจัดการ การวางแผนการจัดซื้อ การ Stock สินค้า หรือการขนส่ง ซึ่งทุกอย่างมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันไปหมดทั้งกระบวนการ

ดังนั้น การที่มีวิชาชีพที่ปรึกษาธุรกิจเกิดขึ้น มาช่วยคิดวางแผนงานให้ผู้ประกอบการ SMEs ผ่อนภาระไปได้มาก เพราะเพียงแค่ภาระเรื่องการจำหน่ายสินค้าก็ใช้เวลาแทบทั้งหมด ทำให้ไม่มีเวลาในการวางแผนบริหารจัดการ ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องเพิ่มยอดขายเป็นจำนวนมาก ก็สามารถมีผลประกอบการที่ดีได้

“การวางแผนจะทำให้เหนื่อยน้อยลง และที่สำคัญในเวลานี้คือต้องสร้างขีดความสามารถการแข่งขันในตลาด รวมทั้งป้องกันผลกระทบจากคู่แข่งที่มาพร้อมกับเออีซีด้วยเช่นกัน”

3 ทางเลือกสู่อาชีพที่ปรึกษา

ดร.วิริยะ บอกว่า วปธ.มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการผลิตบุคลากรวิชาชีพที่ปรึกษา ซึ่งเมื่อจบหลักสูตรไปแล้วที่ปรึกษาเหล่านี้จะเข้าสู่อาชีพที่ปรึกษาใน 3 สถานะ คือ 1. เปิดบริษัทที่ปรึกษาตามวิชาชีพที่เรียนมา บริหารงาน จัดงาน รับงานที่ปรึกษา 2. ให้คำปรึกษา รับงานเป็นที่ปรึกษา 3. สอนหนังสือ Train the Trainer โดยวันนี้ที่มหาวิทยาลัยฯ มี Train the Trainer ประมาณ 100 ท่าน มีความสามารถทำสื่อการเรียนการสอน และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้เข้าเรียนเข้าใจได้ง่าย สามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งที่ปรึกษาที่จบมาจึงขึ้นอยู่กับทางเลือกว่าจะไปทางไหนได้

ทั้งนี้หลักสูตรที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษารายแรก ที่สร้างที่ปรึกษาทางธุรกิจระดับวิชาขีพ มีการสอบและขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลัง ได้รับ ID เป็นที่ปรึกษาอย่างถูกต้อง สามารถรับงานที่ปรึกษาภาครัฐได้

แต่ในส่วนการสร้างที่ปรึกษาเฉพาะทาง เช่น ที่ปรึกษาการตลาด ที่ปรึกษาการเงิน หรือที่ปรึกษากฎหมาย มีการเปิดหลักสูตรอยู่เป็นจำนวนมากทั้งในภาครัฐและเอกชน แต่ไม่ถือเป็นระดับวิชาชีพ เป็นแนวเฉพาะทาง (Functional Course) ใช้เวลาประมาณ 60-90 ชั่วโมง ขณะที่ของ วปธ. การเรียนการสอนมีทั้งหลักสูตรการอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน

“ผู้บังคับหลักประกัน” อาชีพใหม่ตลาดต้องการ

ดร.วิริยะ ย้ำว่า การทำงานของที่ปรึกษาธุรกิจ ต้องทำงานสอดคล้องไปกับ “ผู้บังคับหลักประกันธุรกิจ” ถึงจะสามารถผลักดันให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs เติบโตตามเป้าหมาย

ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ากระทรวงพาณิชย์เองก็พยายามเร่งรัดเรื่องบังคับหลักประกันธุรกิจ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ได้เพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการสามารถนำเอาทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ได้แก่ 1. กิจการ 2. สิทธิเรียกร้อง 3. สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้า คงคลัง หรือวัตถุดิบที่ผลิตสินค้า 4. อสังหาริมทรัพย์ในกรณีผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง และ 5. ทรัพย์สินทางปัญญา

เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายไม่มีทรัพย์สิน (Asset) หรือหลักทรัพย์มาใช้ในการค้ำประกันสินเชื่อ แต่มีความรู้ (Knowhow) มีแบรนด์สินค้า มีร้านค้าเปิดให้บริการอยู่ ก็นำร้านค้ามาเป็นหลักประกัน หรือนำลิขสิทธิ์ (License) ที่ไปซื้อแฟรนไชส์มาเป็นหลักประกัน เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนในการทำธุรกิจ

ซึ่งลักษณะนี้เปรียบเสมือนการให้สินเชื่อโดยไม่มีหลักประกัน จึงต้องมีคนที่สามารถเข้าไปตีราคาได้ว่าลิขสิทธิ์นี้ แฟรนไชส์นี้ หรือแบรนด์นี้มีมูลค่าเท่าไร เพื่อตีเป็นมูลค่าประกัน ซึ่งคนที่ทำงานตรงนี้ เรียกว่า “ผู้บังคับหลักประกันธุรกิจ” ซึ่งต้องมีคุณสมบัติ ผ่านการอบรมและสอบ จึงจะขึ้นทะเบียนเป็นผู้บังคับหลักประกันธุรกิจได้ โดยวันนี้ยังอยู่ระหว่างรอผู้มีคุณสมบัติรุ่นแรก และกฎหมายจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 นี้

“ ”

“มองขาด-รู้ทัน-โค้ชดี” ช่วย SMEs รอด

ที่สำคัญเราต้องดูว่าวันนี้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs มีปัญหาเรื่องไม่มีเงินทุนทั้งหมดหรือไม่ เพราะในบางครั้งถึงแม้จะมีเงินทุนแต่ผู้บังคับหลักประกันอ่านไม่ขาด ใส่เงินลงไปแต่ไปไม่รอดก็มี เพราะสินค้าไม่ได้รับการตอบรับจากตลาด เช่น ทำอาหารแต่รสชาติไม่ดี ขายไม่ได้ ยิ่งใส่เงินทุนเข้าไปก็ยิ่งทำให้เสียหายหนักมากขึ้น การจะทำให้ประสบความสำเร็จจึงต้องมีที่ปรึกษา เพื่อเข้าไปช่วยวางแผนทางธุรกิจ

“สิ่งที่ต้องติดตาม คือ หากผู้บังคับหลักประกันมีคุณภาพเพียงพอ จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบธุรกิจ SMEs เพราะสามารถอ่านเกมออก มองธุรกิจขาด ประเมินได้ จึงจะช่วยผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีทุนได้ลืมตาอ้าปากได้”

ดังนั้นผู้บังคับหลักประกันจึงควรทำงานควบคู่ไปกับที่ปรึกษา ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งเรื่องการทดสอบคุณภาพอาหารตั้งแต่การชิมรสชาติ มาตรฐาน การทำบรรจุภัณฑ์ ทำโลโก้ สร้างจุดขาย การหาตลาด เป็นต้น

“ที่ปรึกษาวิเคราะห์ว่ามีโอกาสทางธุรกิจ มีการวางแผนที่ดี ใส่เงินลงไปธุรกิจรอดแน่ สามารถลงมือทำได้เลย การทำงานร่วมกันในส่วนของนโยบายเรียกว่าเดินไปด้วยกัน ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สนับสนุนทั้งในเรื่องของงานวิจัย และสร้างบุคลากร เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ และเป็นการตอบโจทย์นโยบายของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการอัดฉีดงบประมาณ และการอัดฉีดสินเชื่อผ่านสถาบันการเงิน โดยมองรอบด้านตั้งแต่การให้เงินทุนลงไป หากธุรกิจไปไม่ได้ ให้นำที่ปรึกษาไปใช้ เพื่อช่วยแนะนำให้ธุรกิจไปรอด” ดร.วิริยะ ระบุ

จากวันนี้ไปเชื่อว่าการมีที่ปรึกษาธุรกิจจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs เกิดและเติบโตได้อย่างดี ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงอยากเชิญชวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคล จดทะเบียนกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มาใช้บริการที่ปรึกษาได้ในทุกๆ ด้าน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด!

กำลังโหลดความคิดเห็น