xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.ลุยขยายทางคู่ระยะ 3 ศึกษาออกแบบช่วงจิระ-อุบลฯ เชื่อมภาคอีสานตอนล่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ร.ฟ.ท.” เดินหน้าศึกษาออกแบบรถไฟทางคู่ระยะ3 ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลฯ 305 กม. เน้นใช้แนวเส้นทางเดิมลดเวนคืน รองรับความเร็ว 160 กม./ชม. 34 สถานี แกปัญหา 131 จุดตัดถนน โดยเป็น 1 ใน 6 เส้นทางที่จะเปิด PPP ให้เอกชนลงทุน คาดผู้โดยสารเพิ่มจาก 3.53 ล้านคน/ปีเป็น 7.83 ล้านคน ในปี 69 สินค้าจาก 1.08 แสนตัน/ปี เป็น 9.41 แสนตัน/ปี คาดสรุปผลในต้นปี 59

รายงานข่าวแจ้งว่า วานนี้ (2 พ.ย.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เปิดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ 2 งานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ที่ จ.นครราชสีมา โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน เพื่อนำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าการศึกษาโครงการในด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยจะสรุปการศึกษาและนำเสนอ ร.ฟ.ท.ช่วงต้นปี 2559

โดยบริษัทที่ปรึกษาได้นำเสนอแนวเส้นทางโครงการ จากสถานีชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทางประมาณ 305 กม. ใช้แนวเส้นทางรถไฟเดิม เนื่องจากมีลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสม สามารถปรับให้รองรับกับความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. โดยไม่ต้องมีการกันเขตทางรถไฟเพิ่มเติม และใช้ตำแหน่งสถานีที่ตั้งตามสถานีเดิม จำนวนทั้งหมด 34 สถานี (ไม่รวมสถานีชุมทางถนนจิระ) มีจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่เข้าถึงและสะดวกสบายในการเดินทางทั้งสองฝั่งของระบบราง และมีจุดตัดทั้งหมด 131 จุด มีแนวทางแก้ปัญหาจุดตัดทั้งหมด 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในแนวตรง (Overpass) 2. ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในลักษณะรูปตัวยู (U-Shape Overpass) 3. ท่อเหลี่ยมลอดใต้ทางรถไฟ (Box Culvert) 4. ยกระดับทางรถไฟ (Elevated Railway) และก่อสร้างรั้วกั้นตลอดแนวเขตทางรถไฟ เพื่อป้องกันคนหรือสัตว์ข้ามทางรถไฟตัดหน้าขบวนรถ

พร้อมกันนี้ได้เสนอการให้บริการ 2 รูปแบบ คือ 1. บริการรถโดยสารทางไกลด้วยขบวนรถด่วนพิเศษและขบวนรถด่วนขบวนรถเร็ว 2. บริการรถโดยสารทางใกล้ด้วยขบวนรถไฟท้องถิ่น และขบวนรถธรรมดา ซึ่งแนวเส้นทางเดิมส่วนใหญ่ไม่ได้พาดผ่านพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว เช่น พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ พื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแต่อย่างใด จึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

โดยจากคาดการณ์ปริมาณจำนวนผู้โดยสารเดินทางโดยรถไฟจาก จ.นครราชสีมา-อุบลราชธานี ปัจจุบันเฉลี่ยปีละ 3.53 ล้านคน/ปี เมื่อแล้วเสร็จในปี 2569 คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มเป็น 7.838 ล้านคน/ปี ในปี 2579 เพิ่มเป็น 9.360 ล้านคน/ปี และในปี 2598 เพิ่มเป็น 12.620 ล้านคน/ปี อีกทั้งช่วยลดระยะเวลาเดินทางจากเดิม 5 ชม.30 นาที เป็น 3 ชม.15 นาที ส่วนปริมาณการขนส่งสินค้า ตลอดแนวเส้นทางปัจจุบันเฉลี่ยปีละ 108,000 ตัน/ปี เมื่อแล้วเสร็จในปี 2569 จะมีปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มเป็น 941,800 ตัน/ปี ปี 2579 เพิ่มเป็น 1,158,000 ตัน/ปี และปี 2598 เพิ่มเป็น 1,553,200 ตัน/ปี โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น ข้าวสาร มันสำปะหลังแปรรูป น้ำตาล รวมถึงสินค้าในกลุ่มซีเมนต์

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี เป็น 1 ใน 6 เส้นทางซึ่งอยู่ในแผนการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ระยะสุดท้ายของ ร.ฟ.ท. ที่มีระยะทางรวม 1,349 กม. วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP เพื่อลดภาระหนี้สาธารณะของภาครัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น