xs
xsm
sm
md
lg

สนข.จัดเวทีรับฟังโครงการศึกษารถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ครั้งที่ 2 คาดชงเข้า ครม.ได้ปี 59

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สนข.จัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ นำเสนอเส้นทางเลือกทั้งแนวเดิมและสร้างเพิ่มแนวใหม่ระยะทาง 188 กิโลเมตร ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความเห็นก่อนสรุปนำไปปรับปรุงแล้วจัดเวทีครั้งที่ 3 อีกรอบ คาดได้ผลศึกษาสมบูรณ์พร้อมนำเสนอ ครม.พิจารณาภายในปี 2559

วันนี้ (7 ต.ค. 58) นายปวิณ ชำนิประศาสตร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ร่วมกันเป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ เพื่อนำเสนอรูปแบบ แนวเส้นทางโครงการที่เหมาะสม ประโยชน์ของการออกแบบแนวเส้นทาง รูปแบบการพัฒนาโครงการและผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตัวแทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนชาวเชียงใหม่ กว่า 200 คน ที่โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์

รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเปิดเผยว่า ทางคณะผู้ศึกษาแนวเส้นทางรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงใหม่ได้คัดเลือกแนวเส้นทางเลือกที่ 4 จากทั้งหมด 4 เส้นทางเลือก โดยแนวทางเลือกที่ 4 นั้นแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ สถานีเด่นชัย-สถานีลำปาง ระยะทาง 105 กิโลเมตร มีการก่อสร้างทางใหม่เพิ่ม 1 ทาง ตามแนวเส้นทางรถไฟเดิม

แต่บางช่วงมีการปรับแนวเส้นทางให้เป็นทางตรงหรือเพิ่มรัศมีโค้งมากขึ้นเพื่อให้รถไฟสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และช่วงที่ 2 สถานีรถไฟลำปาง-สถานีจังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 84 กิโลเมตร เป็นการก่อสร้างเส้นทางใหม่ 2 เส้นทางตามแนวเส้นทางตัดใหม่เป็นส่วนใหญ่ ให้มีระยะทางที่เหมาะสมและก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และออกแบบให้มีรัศมีโค้งให้รถไฟสามารถทำความเร็วได้ถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ ตลอดเส้นทางเด่นชัย-เชียงใหม่จะมีสถานีหลัก 18 สถานี คือ ปากปาน แก่งหลวง ห้วยแม่ต้า บ้านปิน ปางป๋วย แม่จาง แม่เมาะ ศาลาผาลาด แม่ทะ หนองวัวเฒ่า ลำปาง ห้างฉัตร ศาลาแม่ทา ป่าเส้า สารภี และเชียงใหม่ รวมระยะทาง 188 กม. โดยการออกแบบนั้นจะใช้มาตรฐานของ American Railway Engineering and Maintenance of Way Association (AREMA) และการรถไฟแห่งประเทศไทยที่กำหนดออกแบบให้สามารถรองรับน้ำหนักกดเพลา 20 ตัน ส่วนรางใช้ขนาดรางแบบ Meter Gauge ระยะความกว้างของราง 1.00 เมตร

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า การเลือกแนวทางรถไฟทางคู่ขนาน แนวที่ 4 นั้น ขณะนี้ถือว่าเป็นเส้นทางเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจากสามารถลดระยะทางจากเดิมที่ยาว 217 กิโลเมตร เหลือเพียง 188 กิโลเมตร และมีแนวทางเป็นเส้นตรงมากขึ้นทำให้สามารถใช้ความเร็วได้ถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เนื่องจากว่าเส้นทางใหม่นั้นจะมีจุดตัดในเมืองมากขึ้นจึงต้องมีการทำสะพานข้ามรางรถไฟ อุโมงค์ลอดทางรถไฟ หรือในพื้นที่ตัวเมืองจะมีการยกระดับทางรถไฟขึ้นเหนือถนน ซึ่งขณะนี้คณะที่ศึกษาได้ทำรูปแบบให้หมดแล้วเพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันแสดงความคิดเห็น

สำหรับการเลือกแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ใหม่ที่มีการเปลี่ยนเส้นทางจากเดิมบ้าง โดยเฉพาะเส้นทางเดิมที่ผ่านสถานีขุนตาลและถ้ำขุนตาล ซึ่งเป็นเส้นทางที่สวยงามและอาจจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตเดิมของผู้ที่อยู่ตามเส้นทางรถไฟนั้น นายชัยวัฒน์กล่าวว่า น่าจะยังคงให้เก็บเส้นทางรถไฟสายเดิมไว้ก่อนเพื่อให้เป็นเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทยไปพิจารณาปรับปรุงเส้นทางรถไฟเดิมเป็นเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวร่วมกับท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรบอกว่า หลังการจัดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้แล้ว จะมีการสัมมนาในครั้งที่ 3 เพื่อที่เป็นการจัดทำบทสรุปข้อมูลทั้งหมดที่คณะศึกษาได้ศึกษาจากการเก็บข้อมูล รายละเอียดทั้งหมดมานำเสนอ โดยโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่นี้จะเสร็จสิ้นในเดือนเมษายน 2559 รวมระยะเวลาศึกษา 14 เดือน

หลังจากนั้นก็จะต้องส่งข้อมูลจากการศึกษาทั้งหมดรวมถึงงบประมาณที่จะต้องใช้ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้

จากนั้นนำเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบโครงการ ซึ่งกระบวนการขั้นตอนดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2559 เนื่องจากอยู่ในแผนยุทธศาสตร์เร่งด่วนปี 2559 โดยเบื้องต้นผู้รับผิดชอบยังจะเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย และในอนาคตจะมีกรมการขนส่งทางรางเข้ามาร่วมรับผิดชอบโครงการต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น