xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่"ไม่รีบร้อยทำรถไฟไทย-จีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าแผนการก่อสร้างรถไฟทางคู่ไทย-จีน ว่า
"มีการประชุมและติดตามความคืบหน้ามาโดยตลอด ถามว่าวันนี้เราสั่งจีนได้หรือไม่ เพราะเขาไม่ใช่คนไทย ผมสั่งได้เมื่อไหร่กันเล่า แต่ละคนต่างมีเงื่อนไขของเขา และเราก็มีเงื่อนไขของเรา จะทำได้เมื่อไหร่ก็ทำ ถ้ายังทำไม่ได้ ก็ต้องศึกษากันก่อน ประเด็นคือ อย่าไปมองว่าช้า ว่าทำไม่สำเร็จ เพราะพอเร็วเกินไป ก็มองว่ามีทุจริต หรือเอื้อประโยชน์ ผมถามว่าจะเอาอย่างไร จะสร้างหรือไม่ จะเอาหรือไม่ ผมจะได้ตกลง"
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การตกลงไม่ได้คุยกันระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลเท่านั้น เพราะคนทำคือ ภาคเอกชนจีนและไทย ที่ต้องร่วมทุนกันก่อสร้างรัฐบาลจะสร้างเองไม่ได้ จะต้องจ้างบริษัทเอกชน ซึ่งเราก็ต้องดูว่าข้อตกลงเขาว่ากันอย่างไร ประเด็นของเราคือ เรื่องเส้นทาง ค่าใช้จ่าย ที่ยังไม่ตรงกัน ส่วนปัญหาเส้นทางก็มีปัญหากันหมด ต่างบุกรุกกันเข้าไป สร้างก็เดือดร้อน ก็ต้องมาเยียวยากันอีก จะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด แม้กระทั่งการทำรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เสร็จแล้วมาเร่งอยากให้ตนใช้อำนาจ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มต่อต้าน เพราะไม่เห็นด้วย เนื่องจากเขาเดือดร้อน และไม่ได้ประโยชน์ แล้วเมื่อไรจะเจอสักที ตนจึงต้องใช้คำว่า“ประชารัฐ”คือประชาชนกับรัฐบาล จะต้องร่วมกันเป็นรัฐ หากเป็นแบบเดิม ก็ทำอะไรไม่ได้ รางหรือถนน ก็ติดขัดไปหมด ทุกคนก็อยากให้ใช้กฎหมาย พอใช้กฎหมายเรียบร้อย ใครที่มาบริหารก็ต้องการอำนาจอย่างเดียว เพราะมันสามารถทำอะไรได้ ตนว่ามันไม่ถูกต้อง เราต้องสร้างความร่วมมือ นี่คือเรื่องที่ฝากไว้ให้คิด เมื่อตนไม่อยู่ พวกเราจะเดินไปอย่างไร ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญหรือการขับเคลื่อนต่างๆ จะให้บอกว่าปัญหาประเทศไทยไม่มีอะไรเลย เรามีความสุขกันดีอยู่แล้ว ทุกอย่างก็เลือกตั้งกันไปเถอะ ตนก็ทำอะไรไม่ได้ เราต้องนึกถึงคนที่เดือดร้อนก่อน

** รัฐบาลไม่ได้ห้ามปลูกข้าวนาปรัง

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงปัญหาสถานการณ์น้ำ ที่จะส่งผลกระทบต่อการเกษตร ว่า ขณะนี้ได้สั่งการ และกำลังกำหนดมาตรการในการบรรเทาความเดือดร้อนของการทำการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องของการทำนาปรัง เนื่องจากต้นทุนปริมาณน้ำในเขื่อนค่อนข้างมีจำกัด และน้อยมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหามาตรการว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อน เช่น มาตรการวางแผนให้เกษตรกรไปปลูกพืชชนิดอื่น หรือกำหนดการปลูกพืชในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลจัดทำแผน ทั้งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยา ว่าจะบริหารจัดการน้ำกันอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ถึงขั้นให้งดการปลูกข้าวนาปรัง เพราะคนจะตื่นตระหนก แต่จะใช้คำว่าแนะนำให้ไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน และรัฐบาลจะหาตลาดรองรับผลผลิตให้ ซึ่งเมื่อรัฐแนะนำไปแล้วและทำ แต่เกิดความเสียหาย รัฐก็พร้อมดูแล แต่ถ้าแนะนำไปแล้วและฝ่าฝืน ตนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอย่างไร เสียหายเปล่าๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น