“พาณิชย์” รุกต่อจัดระเบียบค้าออนไลน์ ประสานสถาบันการเงินนำร่อง เอสเอ็มอีแบงก์ และ สสว.ออกระเบียบห้ามปล่อยกู้ผู้ค้าออนไลน์ที่ไม่จดทะเบียนพาณิชย์ หวังดึงให้ผู้ค้าขายเข้าสู่ระบบ หลังมีเป็น 5 แสนรายแต่จดทะเบียนถูกต้องแค่หลักหมื่น พร้อมเดินหน้าตรวจสอบเว็บค้าออนไลน์ เน้นที่ลงโฆษณา เครื่องสำอาง เครื่องประดับก่อน
นายวิชัย โภชนกิจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้หารือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อขอความร่วมมือให้กำหนดหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ โดยขอให้เพิ่มหลักฐานการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) สำหรับผู้ค้าออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ค้าออนไลน์ที่มายื่นขอกู้เงิน รวมทั้งจะหารือกับสถาบันการเงินทุกแห่งให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันในการพิจารณาปล่อยเงินกู้ด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดึงให้ผู้ค้าออนไลน์เข้ามาสู่ระบบให้ถูกต้อง เพราะปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนเพียงแค่ 1% หรือ 1.35 หมื่นราย และ 1.53 หมื่นเว็บไซต์ จากที่มีการตรวจสอบการค้าขายทางออนไลน์ ซึ่งมีทั้งนิติบุคคล เว็บไซต์ การค้าขายผ่านเฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์ และในรูปบุคคลธรรมดากว่า 5 แสนราย
“อยากให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่เฉพาะสถาบันการเงินเท่านั้น แต่รวมถึงหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนด้วย ที่จะต้องปฏิเสธการทำธุรกรรมกับผู้ค้าออนไลน์ที่ไม่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้เป็นการจำกัดการเติบโตของอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซ แต่เชื่อว่าหากมีการจดทะเบียนถูกต้องจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมมากกว่า และยังเป็นการป้องกันการถูกหลอกลวงจากเว็บไซต์เถื่อนให้แก่ประชาชนด้วย” นายวิชัยกล่าว
นายวิชัยกล่าวว่า ยังจะเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นในการสุ่มตรวจเว็บไซต์ของผู้ค้าออนไลน์ โดยกลุ่มที่จะเน้นการตรวจสอบ คือ กลุ่มที่มีการลงโฆษณาเว็บไซต์ออนไลน์ กลุ่มเครื่องสำอาง กลุ่มเครื่องประดับ โดยในช่วง 6 เดือน ปี 2558 มีการสุ่มตรวจไปแล้ว 324 ราย พบว่าไม่จดทะเบียน 109 ราย และได้ดำเนินคดีตามกฎหมายทะเบียนพาณิชย์ คือ สั่งปรับ 2,000 บาท และปรับวันละ 100 บาท นับจากวันที่เริ่มต้นธุรกิจ และจะส่งเรื่องต่อไปให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดำเนินการใช้กฎหมายในกรณีที่มีการฉ้อโกงมีโทษปรับ 1 แสนบาท จำคุก 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งส่งเรื่องไปให้กรมสรรพากรและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการทางกฎหมาย
“ช่วยระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ตั้งเป้าจะสุ่มตรวจให้ได้เดือนละ 150 ราย ซึ่ง 3 เดือน น่าจะตรวจเพิ่มได้อีก 400 ราย ก็จะทยอยดำเนินการไปเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาอาจมีการตรวจสอบผู้ค้าออนไลน์ไม่เข้มงวด เพราะต้องการส่งเสริมให้คนมาใช้อี-คอมเมิร์ซประกอบธุรกิจ แต่เมื่อทำธุรกิจได้ระยะหนึ่ง และธุรกิจไปรอด ก็ควรจะเข้ามาจดทะเบียนให้ถูกต้อง” นายวิชัยกล่าว
สำหรับการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถติดตามข้อมูลและรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ Trustmarkthai.com และติดต่อผ่าน Facebook ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมทั้งสามารถใช้เป็นช่องทางในการร้องเรียนกรณีถูกหลอกลวงได้ด้วย