xs
xsm
sm
md
lg

เผยรถไฟไทย-จีนช่วงโคราช-หนองคาย ลงทุน 2.4 แสนล.-เตรียมคุยจีนลดดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนข.เผยผลศึกษารถไฟเร็วสูงช่วงโคราช-หนองคาย 355 กม.ค่าลงทุน 2.4 แสนล. เปิดประตูเชื่อมลาว-จีน คาดปริมาณสินค้า ปี 2565 สูงถึง 4.9 ล้านตันดันไทยฮับโลจิสติกส์ เผยเจรจาความร่วมมือไทย-จีน ครั้งที่ 8 ที่ปักกิ่งลุ้นต่อรองจีนลดดอกเบี้ยเงินกู้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่สำรวจเส้นทางรถไฟ Standard Gauge เชื่อมไทย-ลาว-จีนว่า สนข.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาศึกออกแบบโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสาย กรุงเทพ ฯ – หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยข้อมูลในการศึกษานี้จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเส้นทางรถไฟในโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ซึ่งจะมีการประชุมครั้งที่ 8 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อติดตามความก้าวหน้าในเรื่องการออกแบบ ผลศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ (Feasibility Study) รายละเอียดด้านเทคนิคและการเจรจาในเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งการเชื่อมโยงจากหนองคายไปยังสปป.ลาว เป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ โดยระดับนโยบายต้องหารือร่วมกับในเรื่องเทคนิควิศวกรรม รูปแบบการลงทุนทั้งในส่วนของไทย และการเดินรถตลอดเส้นทางไทย-ลาว-จีน อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่กว่า 12% คุ้มค่าในการลงทุน โดยประเมินจากปริมาณผู้โดยสารและสินค้า ตลอดเส้นทางจากจีน-ลาว-ไทย นอกจากนี้ จะต้องพิจารณาข้อเสนอทางการเงิน เงื่อนไขดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งมีกรณีตัวอย่างที่จีนให้อัตราดอกเบี้ยในการลงทุนรถไฟความเร็วสูงที่ประเทศอินโดนีเซียด้วย

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบรางโดยมีสัดส่วนงบประมาณถึง 52% โดยเป็นรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล 30% อีก 20% เป็นระบบรถไฟระหว่างเมือง โดยมีแผนก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร ระยะแรก 6 โครงการและระยะต่อไปอีก8 โครงการ ระยะทาง กว่า 2,500 กม. ซึ่งจะเพิ่มโครงข่ายรถไฟทางคู่ จาก 9% ในปัจจุบันเป็น 70% ในอนาคต เพิ่มศักยภาพและความเร็วในการเดินรถขนส่งสินค้าจาก 45 กม./ชม.เป็น 80 กม./ชม รถโดยสารจาก 60-80 กม./ชม.เป็น 120 กม./ชม.

นายไพบูลย์ โชคไพรสิน ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า การศึกษาออกแบบช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. จะมีมูลค่าโครงการรวม 240,000 ล้านบาท (รวมค่าเวนคืนที่ดินประมาณ 5,000 ล้านบาท ค่างานโยธา งานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถ) และพบว่า ควรใช้รถไฟความเร็ว 200 กม./ชม. ซึ่งเป็นรถความเร็วปานกลางที่มีขายในตลาดจะมีความคุ้มค่าเนื่องจากสามารถวิ่งในความเร็ว 180 กม./ชม. ได้ในขณะที่เส้นทางออกแบบไว้รองรับสำหรับการพัฒนาเป็นรถไฟความเร็วสูงโดยใช้รถที่ 300 กม./ชม.ได้ด้วย ส่วนอัตราค่าโดยสารควรอยู่ที่ เริ่มต้น 70 บาท บวก กม.ละ 1.80 บาท ค่าระวางสินค้าอยู่ที่ 20 บาท/TEU-กม.โดยจะสรุปผลการศึกษาในเดือนพ.ย.นี้

สำหรับสถานีหนองคายจะเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญ โดยห่างจากสถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว ประมาณ 6.3 กม. ปัจจุบันมีการเดินรถระหว่างสถานีหนองคาย-ท่านาแล้ง-หนองคาย วันละ 4 เที่ยว และห่างจากสถานีนาทา ประมาณ 3 กม. ซึ่งสถานีนาทา จะพัฒนาเป็นย่านกองเก็บตู้สินค้าและขนถ่ายสินค้า (Container Yard: CY) และกำหนดอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมศักยภาพการเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าคอนเทนเนอร์ในรูปแบบ Multi-modal transportation hub ที่จะขนถ่ายสินค้าจาก รถบรรทุกมากขึ้นตู้คอนเทนเนอร์ และขนย้ายสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์สู่รถบรรทุก เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

โดยปี 2558 สถานีหนองคายมีรายได้รวม 50 ล้านบาท/ปี มีผู้โดยสาร 293,285 คน(เฉลี่ย 800-1,000 คน/วัน) มีการเดินรถสินค้าหนองคาย-แหลมฉบังวันละ1 ขบวน ผลศึกษาหากมีการพัฒนาเส้นทาง1 .435 เมตรเชื่อมไทย-ลาว-จีน จะเพิ่มปริมาณผ่านเส้นทางอีกมา โดยคาดว่าปี 2565 จะมีปริมาณสินค้า 4.9 ล้านตัน/ปี ปี 2575 ปริมาณสินค้าเพิ่มเป็น 7.4 ล้านตัน/ปี

โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-ท่าเรือมาบตาพุด รวมระยะทาง 737 กม. ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมต่อไปยังเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายคุนหมิง-ลาว ซึ่งมีระยะทางรวม 420 กม. โดยจะเป็นโครงข่ายที่เติมเต็มการขนส่งสินค้าและประชาชนระหว่าง กรุงเทพ ฯ- ภาคอีสาน และภาคตะวันออก และขนส่งสินค้าจากจีน -สปป.ลาว และไทย ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของไทยให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภูมิภาคอาเซียน
กำลังโหลดความคิดเห็น