xs
xsm
sm
md
lg

ท่าเรือปากบาราสะดุดแรงคัดค้าน “ออมสิน” สั่งปรับกลยุทธ์สร้างความเข้าใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ออมสิน” เผยท่าเรือปากบารายังถูกต่อต้านหนัก สั่งกรมเจ้าท่าหาวิธีทำความเข้าใจประชาชนเรื่องมลพิษและผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมเร่งแผนสร้างท่าเรือสำราญใหม่ฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน ดึงนักท่องเที่ยวระดับไฮคลาส และแก้ปัญหาท่าเรือร้าง เหตุสร้างเสร็จไม่มีเอกชนสนใจบริหาร

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมกรมเจ้าท่า (จท.) ว่า ได้รับรายงานถึงการดำเนินโครงการท่าเรือปากบารา จ.สตูล และท่าเรือสงขลา 2 ซึ่งจะมีทางรถเชื่อมแลนด์บริดจ์ ระยะทาง 142 กม. ด้วยนั้น ต้องยอมรับว่าในการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่นั้นไม่มีความคืบหน้า โดยยังมีการต่อต้านอยู่ ซึ่งได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่าเร่งพิจารณาแนวทางเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่าโครงการไม่ได้สร้างผลกระทบหรือทำความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเล ในขณะที่เป็นโครงการที่จะเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าทางน้ำของประเทศ ซึ่งปัจจุบันต้องไปใช้ท่าเรือปีนังของมาเลเซีย

ทั้งนี้ สาเหตุของการต่อต้านคือไม่เข้าใจภาพรวมโครงการ กลัวอุตสาหกรรมหนักเหมือนมาบตาพุดกระทบอาชีพพื้นบ้านประมง การท่องเที่ยว และมี NGO ร่วมด้วย ซึ่งการแก้ไขคือ ในส่วนของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) โดยลงนามว่าจ้างที่ปรึกษาวงเงิน 50 ล้านบาทเมื่อเดือน ก.ย. 2558 เพื่อศึกษากรณีพื้นที่ภาคใต้ควรมีแลนด์บริดจ์แนวใด และบริเวณรอบแลนด์บริดจ์จะมีกิจกรรมต่อเนื่องอะไร ส่วนกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างคัดเลือกที่ปรึกษาในการศึกษาทบทวนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) วงเงิน 120 ล้านบาท (ดำเนินงานปี 2559-2560)

“ปากบารายังมีปัญหาเรื่องคัดค้าน ผู้บริหารกรมเจ้าท่าไม่สามารถขึ้นเวทีประชาพิจารณ์ได้ ตอนนี้กรมเจ้าท่าต้องไปหาวิธีที่จะทำความเข้าใจเรื่องการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก การขนส่งสินค้า และผลกระทบต่างๆ ต้องผ่านจุดนี้ไปก่อนจึงจะพูดถึงเรื่องการก่อสร้างได้” นายออมสินกล่าว

นอกจากนี้ ยังเร่งหาผู้บริหารจัดการท่าเรือของกรมเจ้าท่าที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว เนื่องจากหลังก่อสร้างเสร็จกรมเจ้าท่าต้องส่งมอบให้กรมธนารักษ์ ซึ่งมีระเบียบในการเก็บค่าตอบแทนสูงถึง 50% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายซึ่งเอกชนไม่สามารถรับได้เนื่องจากกิจการท่าเรือมีกำไรประมาณ 20-30% เท่านั้น ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้นายอรุณ ฉายแสง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า และนายณัฐ จับใจ รองอธิบดี เร่งหารือกับอธิบดีกรมธนารักษ์เพื่อลดหย่อนอัตราผลตอบแทน และทำให้มีการใช้ประโยชน์ท่าเรือที่มี เช่น ท่าเรือศาลาลอย ที่อยุธยา สร้างเสร็จแล้ว 4 ปี, ท่าเรือคลองวาฬ จ.ประจวบคีรีขันธ์ สร้างเสร็จแล้ว และท่าเรือคลองใหญ่ จ.ตราด จะสร้างเสร็จในเดือน ธ.ค. 2558

พร้อมกันนี้ ได้เร่งรัดการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือเพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) เนื่องจากปัจจุบันมีเรือสำราญขนาดใหญ่เข้ามาเทียบท่าที่เกาะสมุยประมาณ 30 ลำต่อปี มีนักท่องเที่ยวประมาณ 1,000 คน พบปัญหาคือไม่สามารถจอดเทียบท่าได้เนื่องจากน้ำลึกไม่พอ ทำให้ต้องจอดห่างจากฝั่งถึง 5 กม. และต้องขนถ่ายผู้โดยสารเข้ามา ส่วนที่ภูเก็ตนั้นต้องใช้ท่าเรือเดียวกับเรือขนส่งสินค้าทำให้ไม่สะดวกและไม่จูงใจ ซึ่งในเบื้องต้นกำหนดไว้ 2 ที่ คือ จังหวัดกระบี่ มีทางเลือกไว้ 3 แห่ง ได้แก่ แหลมป่อง หัวหินเพิง และเกาะกวาง ส่วนอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีทางเลือกไว้ 3 แห่ง ได้แก่ แหลมใหญ่ แหลมหินคม และอ่าวท้องโตนด
กำลังโหลดความคิดเห็น