“ประจิน” ฟื้นโครงการท่าเรือปากบารา ตั้งคณะทำงานทำความเข้าใจประชาชน พร้อมตั้งงบ 50 ล้านศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) สรุปใน 11 เดือน ส่วนกรมเจ้าท่าเตรียมตั้งงบ 59-60 วงเงิน 120 ล้าน ทบทวน EHIA พร้อมขอความเห็น สมช.ด้านความมั่นคง ไม่ปิดกั้น ข้อคิดเห็น NGO ยืนยันไม่มีนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม รองผู้ว่าฯ สตูลมั่นใจให้ข้อเท็จจริง ประชาชนเข้าใจ
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมโครงการท่าเรือปากบารา จ.สตูล ว่า ก่อนหน้านี้มีการศึกษาความเหมาะสม ผลตอบแทนการลงทุนแล้ว ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อเปิดประตูการค้าสู่ทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทยด้วยสะพานเศรษฐกิจ (Landbridge) ซึ่งเป็นผลด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมการศึกษาในด้านสังคม วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และมิติด้านความมั่นคงเพื่อทบทวนการดำเนินโครงการอีกครั้ง โดยแต่งตั้งคณะทำงานปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation : IO) เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยมีหน้าที่หลักในการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ลดกระแสต่อต้าน สร้างความยอมรับและร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ และประชาชนทั่วไป
นอกจากนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) วงเงิน 50 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 11 เดือน (มิ.ย. 58-30 เม.ย. 59) โดยที่ปรึกษา SEA จะทำงานร่วมกับคณะทำงาน IO ที่จะลงพื้นที่สร้างความเข้าใจ จากนั้นจะนำข้อเสนอแนะจาก 2 ส่วนมาประกอบกัน ในขณะที่กรมเจ้าท่าจะทำการศึกษาทบทวนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยใช้งบประมาณปี 2559-2560 วงเงิน 120 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 18 เดือน
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า จะดูในทุกมิติ บูรณาการข้อมูลใหม่เพื่อปรับแผนตามเหตุผลและความจำเป็น โดยมติด้านความมั่นคงจะขอความเห็นจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ส่วนประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม จะขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยืนยันว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มีแน่นอน ซึ่งข้อกังวลว่ามีการใช้พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะเภตราเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมนั้น ข้อเท็จจริงจะใช้พื้นที่อุทยานประมาณ 1.5% จากทั้งหมด 3 แสนไร่ เพื่อเป็นเส้นทางเดินเรือเข้าสู่ท่าเรือ ไม่มีการทำลายอุทยานแต่อย่างใด ซึ่งประโยชน์ของท่าเรือปากบาราจะทำให้การขนส่งสินค้าจากเดิมที่ผ่านช่องแคบมะละกาเพื่อมายังท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) และท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ใช้เวลาลดลงจาก 2 วันครึ่ง-3 วัน เหลือ 1 วันครึ่งเท่านั้น เป็นผลดีต่อภาคการขนส่งและต้นทุนลอจิสติกส์ของไทยอย่างมาก
“การคัดค้านโครงการที่ผ่านมาอาจเพราะให้ข้อมูลไม่เพียงพอ ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนว่าไม่มีนิคมอุตสาหกรรม มีแต่ท่าเรือ และชี้แจงถึงประโยชน์ที่จะเป็นการเปิดประตูการค้า แลนด์บริดจ์จะเชื่อมโยงการคมนาคมทางน้ำ ทางบก ราง ของภาคใต้ ไปยังพื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่เกษตร ความเป็นอยู่จะดีขึ้น จะให้ความสำคัญต่อประเด็นที่เป็นข้อห่วงใยของประชาชนในพื้นที่ เปิดรับความคิดเห็นเชิงวิชาการ สังคม เศรษฐกิจในทุกมิติ หอการค้า อุตสาหกรรม รวมถึงองค์กรเอกชน หรือ NGO เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม” พล.อ.อ.ประจินกล่าว
นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าราชการ จ.สตูล กล่าวว่า เรื่องสำคัญคือการให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ซึ่งประชาชนกังวลผลกระทบเรื่องพื้นที่ประมงพื้นบ้าน พื้นที่ที่จะถูกเวนคืน กิจกรรมด้านท่องเที่ยว ส่วนคนทั่วไปกังวลในเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การอพยพของประชาชนนอกพื้นที่เข้ามามากจนทำลายวิถีชีวิตที่สงบ สะอาด ธรรมชาติ บริสุทธิ์ ของ จ.สตูล แต่เชื่อว่าให้ข้อเท็จจริงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ประชาชนจะรับฟัง
นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ตามการศึกษาเดิมปี 2530 โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 เฟส โดยหากดูเฉพาะผลตอบแทนทางการลงทุนจะต้องไม่ต่ำกว่า 12% แต่หลังขณะนี้ต้องนำการศึกษาในทุกมิติมาประกอบการตัดสินใจด้วย ส่วนนิคมอุตสาหกรรมเป็นองค์ประกอบที่สนับสนุนกิจการแต่สามารถตั้งนอกพื้นที่ได้โดยไม่จำเป็นต้องสร้างในเขตท่าเรือ ซึ่งมีพื้นที่เหมาะสมตามแนวรถไฟก่อนถึงหาดใหญ่ ซึ่งจะต้องก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมท่าเรือปากบารา-หาดใหญ่ ระยะทาง 80 กม. ส่วนแลนด์บริดจ์ แนวทางรถไฟจะเชื่อมปากบารา-สงขลา ระยะทาง 140 กม.