xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ซัด รธน.ใหม่สร้างเผด็จการสภา ติง “บิ๊กตู่” เร่งแบงก์ปล่อยกู้รากหญ้า แก้ไม่ถูกจุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
“มาร์ค” ย้ำร่าง รธน.ใหม่สร้างเผด็จการรัฐสภา ยันคนท้วงติงไม่ได้ประโยชน์ แต่คนที่ชอบคือนักการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แนะโละทิ้ง ม.181 และ 182 ที่ให้อำนาจนายกฯ ออกกฎหมายพิเศษ และให้อภัยโทษหากคนผิดให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์หรือสำนึกผิด เตือนหากยังดันทุรังจะเป็นระเบิดเวลาประเทศไทย ขณะเดียวกันห่วง “บิ๊กตู่” เร่งแบงก์ปล่อยสินเชื่อรากหญ้า แก้ปัญหาไม่ถูกจุด เสนอให้เทงบฯ จ้างงานท้องถิ่น พร้อมวอนทบทวนนโยบายพลังงาน ลดภาระประชาชน จากกองทุนน้ำมัน ชี้เดินหน้าท่าเรือปากบารา เจอชาวบ้านค้านหนักแน่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภาพรวมการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ร่างแรกตลอด 7 วันที่ผ่านมาว่า ถ้าทางกรรมาธิการยกร่างฯจะรับฟังเสียงท้วงติงทั้งในและนอกสภาปฏิรูปฯ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะหลายเรื่องเป็นการท้วงติงที่ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของผู้ที่แสดงความเห็น อีกทั้งไม่มีเหตุผลชัดเจนที่ต้องบัญญัติมาตราที่สร้างปัญหา

“ผมยืนยันต้องเอามาตรา 181 และ 182 ที่ให้อำนาจนายกฯเสนอกฎหมายพิเศษ ถ้าไม่มีการอภิปรายไมไว้วางใจให้ถือว่าผ่านความเห็นชอบ และการให้อำนาจนายกฯ ยื่นญัตติเปิดภิปรายไม่ไว้วางใจตัวเองได้ โดยที่ฝ่ายค้านจะไม่สามารถดำเนินการได้ในสมัยประชุมนั้น เพราะถือเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างเผด็จการรัฐสภาที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ”

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงอำนาจของคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองฯ 15 คนที่จะเกิดขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญว่า การกำหนดอำนาจหน้าที่ใน (6) ที่ระบุว่ากรรมการสามารถอภัยโทษให้แก่ผู้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือสำนึกผิดต่อกรรมการและก่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อ ครม.นั้นจะเป็นประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงแน่นอน ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าเหตุใดกรรมาธิการฯ จึงไม่เรียนรู้จากวิกฤตประเทศที่ผ่านมาว่าประชาชนต่อต้านการนิรโทษกรรมให้กับคนที่ทำผิดร้ายแรง แม้แต่มาตรา 182 ที่ให้นายกฯ เสนอกฎหมายพิเศษได้หนึ่งฉบับต่อหนึ่งสมัยประชุมก็อาจมีเจตนาเดียวกันคือให้เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมได้

“แม้จะอ้างว่ากฎหมายดังกล่าวต้องไปผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา ก็ต้องถามว่าทำไมกีดกันเสียงข้างน้อยซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เท่ากับกลายเป็นว่า ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย มีแต่ฝ่ายบริหารกับ ส.ว.ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกตั้งมีอำนาจในการพิจารณา ผมไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมต้องเขียนไว้แบบนี้ เช่นเดียวกับเรื่องอำนาจพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษเพราะการเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้นักการเมืองโกงที่บ้าอำนาจจะชอบมาก ไม่ใช่ว่าคนที่ออกมาท้วงติงเสียประโยชน์อย่างที่กล่าวอ้างในขณะนี้”

ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี แสดงความหงุดหงิดต่อข้อเสนอของพรรคการเมืองว่าให้เลื่อนเลือกตั้งเพื่อทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและให้มีการลงประชามติ โดยเห็นว่านักการเมืองไม่มีสิทธิมาต่อรองนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เบื้องต้นกรรมาธิการฯต้องแก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหาก่อน เพราะในการอภิปรายกรรมาธิการฯ ไม่สามารถชี้แจงได้ในหลายประเด็นสำคัญ แต่ตนยังให้เกียรติเพราะกรรมาธิการฯบอกว่าจะรับฟังและนำไปแก้ไข อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนและไม่มีการลงประชามติด้วย รัฐธรรมนูญนี้จะกลายเป็นระเบิดเวลาประเทศไทยที่สร้างความขัดแย้งไม่เบาไปกว่าในอดีต และความตั้งใจของ คสช.ในการทำรัฐประหารก็จะสูญเปล่า

“ผมเห็นว่าที่ผ่านมามีคนเร่งเลือกตั้ง นายกฯ ก็ว่า พอมีคนเสนอให้เลื่อนก็ว่าอีก ขอให้ดูเจตนาผู้ให้ความเห็นจะดีกว่า เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ประโยชน์นักการเมือง แต่เป็นภูมิคุ้มกันให้รัฐธรรมนูญและการแก้ปัญหาความขัดแย้งซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว จึงเชื่อว่านายกฯ น่าจะต้องการให้ปัญหาความขัดแย้งยุติมากกว่าที่จะทำให้ยืดเยื้อต่อไปอีกหลายปี เพราะมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย”

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์มีนโยบายจะให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นว่า นโยบายเกี่ยวกับข้อจำกัดแหล่งเงินทุนต้องชัดเจนว่าต้องการไปทำอะไร หากมีโครงการหรือมีอาชีพที่มีรายได้แต่ขาดเงินทุนก็ควรทำ แต่ถ้าตั้งเป้าให้ปล่อยเงินมากๆ เจะกลายเป็นการสร้างหนี้เสียใหม่เกิดขึ้น และจะไม่ยั่งยืนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เว้นแต่การปล่อยสินเชื่อนั้นจะสร้างรายได้กลับคืนมา

“ผมเสนอว่าควรกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น โดยรัฐใช้งบประมาณเข้าไปอุดหนุนจ้างงานสร้างรายได้ แทนที่จะให้คนกู้เงินสร้างหนี้ และลดภาระกองทุนน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน อีกทั้งทำให้กองทุนน้ำมันถูกต้องตามกฎหมายด้วย เพราะ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้ทักท้วงมาแล้ว แต่โดยส่วนตัวเห็นว่ากองทุนน้ำมันมีประโยชน์โดยทำให้ถูกกฎหมายและมีการนำไปใช้อย่างรัดกุม เช่น ใช้สนับสนุนแก๊สโซฮอล์ หรือสร้างทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา”

นายอภิสิทธิ์ยังแสดงความเป็นห่วงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์มีนโยบายที่จะเดินหน้าโครงการท่าเรือปากบาราว่า ในสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีมีการรับฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ พบว่าท่าเรือที่จะมีความสุ่มเสี่ยงกระทบทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวไม่ใช่ทางเลือกที่ประเทศและประชาชนต้องการ แต่ถ้าเป็นท่าเรือขนาดเล็กเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตรที่ไม่กระทบการท่องเที่ยวทำได้ แต่ต้องพิจารณาว่าจะคุ้มทุนหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะทำโครงการขนาดไหน เดิมมีแนวคิดให้เป็นสะพานอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ มีอุตสาหกรรมหนักรวมอยู่ด้วย ซึ่งรัฐบาลของตนคัดค้านเรื่องนี้ และมีนโยบายชัดว่าอุตสาหกรรมหนักต้องไม่มีเพิ่ม โดยไทยควรไปใช้ประโยชน์จากท่าเรือทวายที่จะรองรับอุตสาหกรรมหนักดีกว่า แต่ถ้ายังดึงดันจะเดินหน้าโดยไม่ลดขนาดโครงการลงจะมีแรงต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังขัดแย้งกับแนวคิดของ สปช.ที่ต้องการจะทำให้อันดามันเป็นมรดกโลก รวมถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย

“อย่าคิดว่าจะฉวยโอกาสในขณะที่ไม่มีมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิชุมชน แล้วจะใช้วิธีการเลี่ยงการมีส่วนร่วมของประชาชนและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน ผมขอให้รัฐบาลยึดหลักตามเจตนารมณ์ของมาตรา 67 ซึ่งจะสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยังยืนเพราะสิ่งที่รัฐบาลทำขณะนี้ยังขัดแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้อย่างสวยหรูในเรื่องการคุ้มครองสิทธิชุมชนสร้างพลเมืองเป็นใหญ่ด้วย แนวทางที่ดีที่สุดคือสร้างกระบวนการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและกำหนดแนวทางที่สมดุลโดยคำนึงถึงวิถีชุมชนด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น